วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรุป ป.วิอาญา

สรุปคำบรรยาย ป.วิอาญา

ผู้เสียหาย (มาตรา 2(4))

มาตรา 2(4) ให้คำนิยามว่า “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 4,5และ6 จากคำนิยามจึงแบ่งผู้เสียหายได้ 2 ประเภท คือ 1.ผู้เสียหายโดยตรงและ 2.บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
1.ผู้เสียหายโดยตรง ต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
- มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
- มีบุคคลได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้น
- เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ผู้เสียหายโดยนิตินัย คือ ผู้ที่ไม่ได้ร่วมกระทำผิด หรือเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือไม่ได้รู้เห็นการกระทำผิดด้วย)

สรุปหลักจาก แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับความผิดอาญาฐานต่างๆ



ความผิดฐานฉ้อโกง
- ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ได้แก่ ผู้ที่หลอกลวง และรวมถึงเจ้าของทรัพย์ด้วย (ฎ.4684/2528(ประชุมใหญ่)) 

- ผู้ที่ถูกหลอกลวงนั้นเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ด้วย(ฎ.1341/2495)หรือผู้อื่นเป็นผู้ส่งทรัพย์ให้ก็ตาม(ฎ.1064/2491)

- หลอกลวงให้ทำนิติกรรมอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อาญามาตรา341วรรคสองผู้ถูกหลอกลวงย่อมเป็นผู้เสียหายแม้ผู้อื่นจะเป็นผู้ทำนิติกรรมตามที่จำเลยหลอกลวงก็ตาม(ฎ.1931/2514)

- สำหรับผู้ที่ดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงก็น่าจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ได้ แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น มณฑลทหารบกที่ 31 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ หน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดีได้ จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.1352/2544)

- การที่เอาเช็คของผู้อื่นไปหลอกลวงธนาคารให้จ่ายเงิน ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินและเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงแต่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎ.2193/2534)

- ในกรณีการรับฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธินำเงินที่รับฝากไปใช้ได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบจำนวนเท่านั้น ตามป.พ.พ. มาตรา672 หากมีผู้มาหลอกลวงเอาเงินจากผู้รับฝากไป ผู้รับฝากก็ยังมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่ผู้ฝากผู้ฝากจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้รับฝากเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย (ฎ.87/2506(ประชุมใหญ่),613/2540) 

- แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยลวงเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. จากลูกค้าของธนาคารแล้วนำเงินไปถอนเงินจากตู้เบิกเงินด่วนด้วย ถือว่าเป็นเงินของลูกค้าแล้ว ลูกค้าเป็นผู้เสียหาย (ฎ.671/2539)

- การใช้บัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการทำให้ธนาคารต้องจ่ายเงินตามใบบันทึกรายการขายจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.7001/2544)

- ความเสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวงของผู้กระทำผิด ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการหลอกลวงเป็นผลให้โจทก์ถูกจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่ง มิใช่ความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1357/2533)

- หลอกลวงว่าจะพาโจทก์ไปเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ ให้โจทก์ลักเงินของบิดามาให้ โจทก์ปฏิบัติตาม เมื่อได้เงินมาแล้วมอบให้จำเลย จำเลยเอาเงินนั้นไปเสีย ดังนี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง (ฎ.736/2504)

- ตกลงให้เงินเพื่อให้นำไปมอบกรรมการสอบบรรจุเข้ารับราชการเพื่อช่วยเหลือให้สอบได้ ถือว่าเป็นผู้ใช้ให้กระทำผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1960/2534)

- แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่เป็นการให้เพื่อให้จำเลยช่วยติดต่อให้เข้าทำงานโดยไม่ต้องสอบเท่านั้น เช่นนี้ยังเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.1500/2536,4744/2537)

- หลอกลวงโจทก์ให้เข้าเล่นการพนันเพื่อต้มบุคคลอื่น เป็นการร่วมกระทำผิดด้วย โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.1813/2531)

- แต่ถ้าหลอกลวงโจทก์ให้เข้าเล่นการพนัน โดยอ้างว่าเพื่อกันมิให้บุคคลอื่นเสียเงิน ถือว่าโจทก์มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.3327/2532)

- หลอกลวงว่าจะขายธนบัตรปลอมให้เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.771/2493)

ความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

ความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อาญามาตรา177 และ180 ส่วนได้เสียในความผิดทั้งสองฐานนี้ คือ ผลแห่งหารแพ้ชนะคดี ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจึงน่าจะเป็น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีนั้นเองหรือเจ้าพนักงานในการยุติธรรม(ฎ.533/2541,4804/2531,1033/2533,951/2531) 

ต่อมามี ฎ.2224/2536 วินิจฉัยว่าในความผิดฐานเบิกความเท็จไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นคู่ความในคดีเสมอไป ถ้าคำเบิกความนั้นไปกระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ทำให้บุคคลภายนอกเสียหาย กล่าคือ ทำให้บุคคลภายนอกเสียสิทธิในที่ดินจากการเบิกความนั้น บุคคลภายนอกก็เป็นผู้เสียหายได้คู่ความในคดีที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ จะต้องเป็นตัวความที่แท้จริง ทนายความของตัวความจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.1709/2524(ประชุมใหญ่))

ผู้ที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ (ฎ.892/2516)
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นคู่ความในคดี ก็มิใช่ว่าจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเสมอไปไม่ เช่น

- ข้อความที่เบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของคู่ความฝ่ายนั้น ไม่เกี่ยวกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะเป็นเท็จ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ (ฎ.555/2514) และในกรณีเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย (ฎ.1050/2518)

- กรณีคู่ความเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดี ถือว่าความเสียหายมิได้เกิดแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยตรง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.297/2508)

- ในกรณีจำเลยเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนเพื่ออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ใช่เรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1572/2525)

- จำเลยเบิกความเท็จเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ แม้โจทก์จะเป็นคู่ความในคดีก็ตาม (ฎ.8278/2540)

- สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้วนั้น ไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นแม้จำเลยจะเติมข้อความในสัญญาและเบิกความเท็จ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารและเบิกความเท็จ

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ
แม้ความผิดฐานแจ้งความเท็จจะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน แต่ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ ถ้าได้รับความเสียหายโดยตรง เช่นข้อความเท็จนั้นมีผลทำให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญา (ฎ.2415/2535,2625/2536)

จำเลยเสนอหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับอันเป็นเท็จ โดยแจ้งว่าหลักประกันมีราคาสูงเกินความจริง ทำให้ศาลหลงเชื่อ จึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีได้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์/ฎีกา ถือว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ.2221/2515)

จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่มิได้เจาะจงถึงโจทก์โดยตรง โจทก์มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.2998/2531,6858/2541,7957/2542)

ผู้กู้มอบสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็ม. ให้แก่ผู้ให้กู้ยึดไว้เป็นหลักประกันเงินกู้แล้วผู้กู้ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็ม.หายไป เพื่อนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคารให้ออกสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็มให้ใหม่ถือว่าเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงผู้ให้กู้ ผู้ให้กู้ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (เจ้าพนักงานเป็นผู้เสียหาย (ฎ.6858/2541)

ในบางกรณี แม้จำเลยแจ้งข้อความโดยมิได้ระบุเจาะจงถึงผู้ใดโดยตรงแต่มีผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่นทำให้ต้องเสียที่ดินไปเพราะการแจ้งนั้น ก็ถือว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงและถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ.3554/2531)

ในกรณีพยานไม่มาเบิกความต่อศาลตามนัดโดยอ้างว่าป่วยซึ่งเป็นเท็จนั้น คู่ความในคดีนั้นไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จของพยาน (ฎ.1753/2498)

ชายจดทะเบียนสมรสซ้อน โดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่ายังไม่เคยสมรสมาก่อน ดังนี้ทั้งภรรยาเดิมและภรรยาใหม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ(ฎ.2614/2518,2583/25225052/2530) 

แต่ถ้าหญิงที่จดทะเบียนสมรสครั้งหลังทราบว่าชายมีภรรยาที่ถูกต้องตามกำหมายอยู่ก่อนแล้วก็ยังยอมจดทะเบียนสมรสด้วย หญิงนั้นไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย 

ความผิดฐานฟ้องเท็จ
การที่นำความเป็นเท็จมาฟ้องคดีอาญา แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1007/2524)

ความผิดฐานยักยอก
ผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ขณะที่ถูกยักยอก (ฎ.5097/2531,1554-1555/2512,2386/2541)

ในคดีแพ่ง ศาลสั่งคุ้มครองประโยชน์โดยให้จำเลยเก็บเงินค่าเช่าทรัพย์นำมาวางศาล ถือว่าเงินที่จำเลยเก็บมายังไม่เป็นของโจทก์ การที่จำเลยไม่นำมาวางศาลแล้วนำไปเป็นประโยชน์ของตน โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.171/2544)

ในคดีแพ่งโจทก์จำเลยตกลงยอมความกันได้จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่ทนายความของโจทก์โดยโจทก์มิได้มอบหมายให้รับแทน ทนายความของโจทก์จึงไม่มีอำนาจรับเงินนั้นได้ เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของโจทก์ เมื่อทนายโจทก์ยักยอกเงินนั้นโจทก์ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.815/2535(ประชุมใหญ่)),190/2532) 

แต่ถ้าทนายโจทก์ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้รับเงินที่ชำระหนี้แทนได้ เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์แล้วในฐานะตัวการ ทนายโจทก์เบียดบังไป โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกได้ (ฎ.33/2532)

ตัวแทนหรือลูกจ้างรับเงินหรือสิ่งของของตัวการหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณีจากบุคคลภายนอก ถือว่ามีสิทธิในเงินหรือสิ่งของตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที ถ้าตัวแทนหรือลูกจ้างยักยอกเอาเงินหรือสิ่งของนั้นเป็นของตน ตัวการหรือนายจ้างย่อมเป็นผู้เสียหาย(ฎ.2250/2544,4/2533,3656/2533,556/2541)

สำหรับผู้ชำระเงินหรือสิ่งของ เมื่อส่งมอบเงินหรือสิ่งของให้แก่ตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับเงินไปแล้ว สิทธิในเงินหรือสิ่งของย่อมตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที ผู้ชำระเงินหรือสิ่งของจึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก (ฎ.1755/2531,6897/2540)

ส่วนกรณีที่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ตัวแทน หรือลูกจ้างยักยอกทรัพย์ของตัวการหรือนายจ้าง ตัวแทนหรือลูกจ้างไม่เป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายคือตัวการหรือนายจ้างเช่นกัน(ฎ.465/2536,243/2529,1618/2509)

ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองดูแลจัดการทรัพย์มรดก จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก (ฎ.47/2519(ประชุมใหญ่))
บุตรที่บิดารับรองตามความเป็นจริง ตาม ป.พ.พ.มาตรา1627 เช่นมีพฤติการณ์แสดงให้คนรู้ว่าเป็นบุตร เป็นผู้เสียหายฟ้องผู้จัดการมรดกในข้อหายักยอกได้ (ฎ.1205/2542)

กรณีหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถือว่าเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์สินของห้างฯ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินของห้างฯได้ (ฎ.2157/2518) 

แต่จะร้องทุกข์ในนามตนเองเป็นการส่วนตัวไม่ได้ (ฎ.5008/2537) เพราะห้างฯกับผู้จัดการห้างฯเป็นคนละคนกัน
ในกรณีที่มีผู้ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เสียหาย ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.6328-6330/2531)

แต่ถ้าผู้จัดการหรือกรรมการนิติบุคคลเป็นคนยักยอกเงินหรือทรัพย์สินอื่นของนิติบุคคลเสียเอง ผู้จัดการหรือกรรมการคงไม่ยอมดำเนินคดีกับตนเอง ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายดำเนินคดีกับผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นๆได้ (ฎ.115/2535,1250/2521(ประชุมใหญ่),1680/2520)

เมื่อเจ้าของทรัพย์สินตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท ทายาทย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกซึ่งเกิดภายหลังเจ้ามรดกตายได้ แม้จะยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกยักยอกก็ตาม (ฎ.1938/2494) แต่ถ้าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ เจ้สมรดกจึงเป็นผู้เสียหาย สิทธิในการฟ้องคดีอาญาไม่ตกทอดมายังทายาท ทายาทไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2219/2521)

ในสัญญาเช่าซื้อถ้าผู้เช่าซื้อตายเสียก่อน หลังจากนั้นมีผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อ ทายาทผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้เสียหาย (ฎ.6007/2530) (สิทธิและหน้าที่ในสัญญาเช่าซื้อตามกรณีนี้ ตกทอดมายังทายาทก่อนเกิดการยักยอกแล้ว ทายาทจึงได้รับความเสียหาย)

ความผิดฐานลักทรัพย์,ทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก
การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานบุกรุก เป็นการกระทำต่อเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ ดังนี้ทั้ง เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวได้(ฎ.5980-5981/2539,1548/2535,1284/2514,634/2536)

ผู้อาศัยผู้เช่าอีกทอดหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เช่า (ฎ.993/2499) และในกรณีผู้เช่าคืนทรัพย์ที่เช่าให้ผู้ให้เช่าแล้วผู้เช่าก็ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.1417/2522)

แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่ผู้ให้เช่า แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่ผู้เช่าแล้ว ก็ยังถือว่าผู้เช่าเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าอยู่ ผู้เช่าจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.363/2518)

ผู้ครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานบุกรุก (ฎ.928/2520(ประชุมใหญ่),172/2535) แต่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้ต้นไม้ที่ตนปลุกไว้ในที่สาธารณะดังกล่าวเสียหาย (ฎ.5310/2530)

ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้นด้วย ถ้าเพียงแต่เจ้าของอนุญาตให้พักอยู่อาศัยเท่านั้นโดยไม่ได้รับมอบหมายโดยตรงให้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น ผู้ที่พักอยู่อาศัยไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ฎ.3523/2541)

เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และเต็นท์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้รถยนต์และเต็นท์เสียหาย (ฎ.7477/2541)

ในเรื่องทางภารจำยอม เจ้าของสามยทรัพย์ (เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอม) ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภารยทรัพย์ จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้ภารยทรัพย์เสียหาย (ฎ.1828/2523)


ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
นำคำร้องซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมไปยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ เพื่อขอเลขบ้านใหม่ซึ่งเป็นบ้านเลขที่เดียวกับบ้านโจทก์เพื่อต้องการเอาบ้านเป็นของจำเลย ดังนี้เลขบ้านไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2361/2530)

มีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฐานฉ้อโกงเพราะเงินเป็นของธนาคาร ตามป.พ.พ.มาตรา 672 วรรคสอง ส่วนผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎ.1462-1463/2523)

ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่เป็นผู้เสียหายในกรณีที่จำเลยปลอมหรือใช้เอกสารปลอมเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น (ฎ.3561/2525)

ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญามาตรา157 เอกชนก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ เช่นการที่เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำผิดอาญา ผู้เสียหายในความผิดอาญาฐานนั้นย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ.4881/2541,2294/2517,611/2497)

เจ้าพนักงานตำรวจจดคำพยานเป็นเท็จเพื่อช่วยผู้กระทำผิดมิให้รับโทษ หรือรับโทษน้อยลงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้เสียหายหรือผู้จัดการแทนผู้เสียหายในความผิดอาญาที่มีการสอบสวนเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ.2294/2517)

ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้บุกรุกที่สาธารณะ ผลการจับกุมมิได้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อาญามาตรา157 (ฎ.3035/2523)


ความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
ผู้เสียหายในความผิดตามพรบ.นี้มีได้เฉพาะผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น (ฎ.1035/2529,1891/2524)

แม้ผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากผู้ทรงคนก่อนแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นผู้เสียหายอยู่ (ฎ.2353/2537)

เมื่อผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดสิทธิในเช็คย่อมตกทอดแก่ทายาทและถือว่าทายาทเป็นผู้ทรงเช็คต่อไป เมื่อต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าทายาทเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ (ฎ.3619/2543)

ฐานะของผู้ทรงเช็คเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่าสามีภริยา สามีของผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2752/2531)

ผู้รับโอนเช็คภายหลังธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้ผู้รับโอนจะนำเช็คไปขึ้นเงินและธนาคารปฏิเสธอีกครั้งก็ตาม เพราะไม่ทำให้จำเลยมีความผิดขึ้นอีก (ฎ.2703/2523)

การที่ผู้ทรงเช็คนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทน ถือว่าผู้ทรงเช็คเป็นตัวการ จึงยังเป็นผู้ทรงเช็คขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1084/2542,2722/2527,349/2543)

ในกรณีที่จำเลยออกเช็คหลายฉบับเพื่อชำระหนี้มูลหนี้จำนวนเดียวกัน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ เมื่อจำเลยถูกฟ้องตามเช็คฉบับหนึ่งไปแล้วโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามเช็คฉบับหลังอีก (ฎ.3254/2526,3822/2529)
รับโอนเช็คมาเพื่อฟ้องคดีอาญา ถือว่าไม่สุจริตไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.3413-3415/2528)

เช็คที่มีมูลหนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ผู้รับเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.3047-3048/2531)

เช็คที่ฟ้องเป็นเช็คที่ผู้เสียหายคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมเข้าไปด้วย ถึอว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผ็ทรงเช็คโดยชอบและไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.30/2543)

ความผิดฐานหมิ่นประมาท
บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มบุคคลโดยไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือจากถ้อยคำที่หมิ่นประมาทไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนั้นคนใดคนหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1325/2498,3954/2539)

แต่ถ้าหมิ่นประมาททุกคนที่อยู่ในกลุ่มนั้น เช่นกล่าวหมิ่นประมาทพระทั้งวัด (ฎ.448/2489)หรือกล่าวหมิ่นประมาททนายความทั้งจังหวัด (ฎ.295/2505(ประชุมใหญ่) บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย


ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงาน คนที่มิใช่เจ้าพนักงานถูกจำเลยต่อสู้ขัดขวางไม่ใช่ผู้เสียหาย


ตัวอย่างความผิดดังต่อไปนี้รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้

1.ความผิดตาม พรบ.จราจรทางบกฯ
2.ความผิดตามพรบ.อาวุธปืนฯ
3.ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกตาม ป.อาญา มาตรา147
4.ความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานตาม ป.อาญา มาตรา199
5.ความผิดตาม พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ
6.ความผิดฐานขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาล ตามป.อาญา มาตรา 170
7.ความผิดตาม พรบ.ศุลกากรฯ และพรบ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ เจ้าพนักงานผู้จับก็ไม่ใช่ผู้เสียหายแม้เจ้าพนักงานผู้จับจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จรางวัลก็ตาม (ฎ.3797-3798/2540)
8.ความผิดตาม ป.อาญามาตรา158

ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่าย ผู้ตายมีส่วนกระทำผิดด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.4461/2539,1167-1168/2530)

สมัครใจเข้าวิวาททำร้ายกันและกัน ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.223-224/2513)

ใช้ให้จำเลยนำเงินไปซื้อสลากกินรวบ ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง (ฎ.481/2524)

หญิงยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกนั้น ถือว่าหญิงมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.954/2502)

การที่ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (ฎ.1281/2503) แต่ถ้าผู้กู้ฟ้องผู้ให้กู้ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งผู้กู้มิได้มีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย ดังนี้ผู้กู้เป็นผู้เสียหายได้ (ฎ.6869/2541)

ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้า การที่ต่างฝ่ายต่างพูดตอบโต้ในการทะเลาะกัน ถือว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดด้วยจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.78-79/2502) แต่ถ้าเป็นการกระทำคนละตอนกัน ดังนี้ต่างเป็นผู้เสียหายได้

2.ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย (มาตรา4,5)

หญิงมีสามี (มาตรา4)

ในคดีอาญา ผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงมีสามีมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน (มาตรา4วรรคแรก)
ภายใต้บังคับมาตรา5(2)สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้โดยรับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา(มาตรา4วรรคสอง)

ความเป็นสามีภริยาตามมาตรา4 นี้ต้องชอบด้วยกฎหมายด้วยมาตรา4 วรรคสองที่ว่าภายใต้บังคับมาตรา5(2) หมายถึง ถ้าเป็นกรณีภริยาถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ สามีก็จัดการแทนโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากภริยาก่อน ถ้าเป็นกรณีที่ทั้งสามีที่ทั้วสามีภริยาต่างเป็นผู้เสียหายได้เองก็ไม่ต้องอาศัยอำนาจมาตรา4 หรือมาตรา5(2) เช่น มีการประทุษร้ายต่อสินสมรส หรือทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่คู่สมรสที่มีชีวิต

ผู้มีอำนาจจัดการแทน ตามมาตรา5 มี 3 กรณีคือ
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลเฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลเฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น


ตามมาตรา5(1) ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์ฟ้องคดีอาญาเองไม่ได้ แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม(ฎ.563/2517,631/2538)
การที่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทน เป็นข้อบกพร่องเรื่องความสามารถ ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 56 ประกอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา6 และมาตรา15 ซึ่งศาลต้องสั่งให้แก้ข้อบกพร่องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 56 วรรคสี่เสียก่อนจะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ทันทีไม่ได้ (ฎ.6475/2537)

แต่ในเรื่องการร้องทุกข์ ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้โดยไม่ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทน (ฎ.214/2494,1982/2494,1641/2514)

ในกรณีผู้เยาว์ร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้ว ผู้แทนโดยชอบธรรมจะถอนคำร้องทุกข์ให้ขัดกับความประสงค์ของผู้เยาว์ไม่ได้ (ฎ.214/2494(ประชุมใหญ่)

ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ตามมาตรา 5(1) ได้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ในกรณีที่เป็นบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ถือตามหลักสายโลหิต (ฎ.2882/2527)

แต่สำหรับตามมาตรา 5(2) นั้นถือตามความเป็นจริง (ฎ.1384/2516)และในกรณีผู้สืบสันดานตามมาตรา5(2)ก็ถือตามความเป็นจริงเช่นกัน (ฎ.2664/2527)

ส่วนสามี ภรรยา ตามมาตรา 5(2) ต้องเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย(ฎ.1056/2503)
เมื่อผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาก็ไม่มีอำนาจจัดการแทนได้เช่นกัน (ฎ.4461/2539,954/2502,920-921/2507,11671168/2530,1020/2534)

ในกรณีที่บิดาฟ้องคดีแทนบุตรซึ่งถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5(2) ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล บิดาตายตามอีกคน ดังนี้บุตรคนอื่นของบิดา (พี่ชายผู้ตาย) จะดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 29 ไม่ได้ (ฎ.2331/2521)

การจัดการแทนตามมาตรา 5(2) จะต้องยืนยันว่าผู้เสียหายตายไปแล้ว หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ (ฎ.1734-1735/2532)

ตามมาตรา 5(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลมีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคลในความผิดอาญาที่กระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น แต่ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเอง ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับความเสียหายโดยตรง มีอำนาจฟ้องผู้จัดการหรือผู้แทนได้ (ฎ.115/2535,1250/2521,1680/2520) 

(กรณีนี้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 4 ไม่ใช่กรณีมาตรา 5(3))สิทธิในการดำเนินคดีอาญาไม่เป็นมรดก ไม่ตกทอดไปยังทายาท หากความผิดเกิดขณะเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ เจ้ามรดกเป็นผู้เสียหาย ทายาทไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง(ฎ.3395/2525) 

แต่ถ้าเจ้ามรดกได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดแล้วต่อมาเจ้ามรดกตาย ทายาทมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้ (ฎ.206/2488,11/2518)

ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาย (ป.อาญา มาตรา333) ให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญา การฟ้องคดีอาญาอาจมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนได้ ไม่ว่าผู้เสียหายจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา (ฎ.890/2503(ประชุมใหญ่)

คำร้องทุกข์ (มาตรา 2(7))
คำร้องทุกข์ คือการที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

คำร้องทุกข์มีความสำคัญยิ่งในการดำเนินคดีในความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้) ในเรื่องอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน ตามมาตรา 121 วรรคสอง ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์หรือคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยมาตรา 2(7) พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนและทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลต้องยกฟ้อง ***ซึ่งหากเป็นข้อสอบก็มักออกเชื่อมโยงกับเรื่อง ผู้เสียหาย และการสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ ตามมาตรา 121 วรรคสอง (รวมถึงอาจออกเชื่อมโยงไปถึง อำนาจการสอบสวนตามมาตรา 18,19) และอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา 120 ซึ่งต้อง ตั้งต้นไล่ว่า เป็นผู้เสียหายหรือไม่ การร้องทุกข์ชอบหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ และยังต้องพิจารณาถึงอายุความร้องทุกข์ ตาม ป.อาญา มาตรา 96 ด้วย กล่าวคือ ในความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตังผู้กระทำผิด

ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกันคดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา2 (7) (ฎ.391/2527,758/2523,1725/2522,195/2522,2206/2522)

การร้องทุกข์ในความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯถ้าผู้เสียหายแจ้งว่าต้องการรับเช็คของกลางไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องจำเลยอีกทางหนึ่งก่อน โดยไม่ขอมอบคดีต่อพนักงานสอบสวน ถือว่าผู้เสียหายไมีมีเจตนาให้ผู้ออกเช็คต้องรับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ (ฎ.4714/2533,1478/2530,314/2529)

แต่ถ้าผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ออกเช็ค และในขณะเดียวกันก็ขอรับเช็คคืนไปทวงถามเอากับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง โดยคำร้องทุกข์ไม่มีข้อความระบุว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวน ถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย (ฎ.1209/2531(ประชุมใหญ่),3924/2532)

ในความผิดต่อส่วนตัว กรณีที่มีผู้กระทำผิดหลายคน และผู้เสียหายรู้ตัวผู้กระทำผิดทุกคน แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยระบุชื่อเพียงบางคนเท่านั้น ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อต้องรับโทษด้วย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์สำหรับผู้ไม่ระบุชื่อ(ฎ.3343/2536,1298/2510,122/2528)

แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะระบุชื่อให้ดำเนินคดีแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้อื่นได้ (ฎ.4080/2540)

เจตนาเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษนี้ คงพิจารณาเฉพาะขณะผู้เสียหายร้องทุกข์ว่า ผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหรือไม่ ถ้ามีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว แม้ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาล ผู้เสียหายกลับมาเบิกความต่อศาลว่าไม่มีเจตนาให้เอาโทษแก่จำเลย ดังนี้ไม่ทำให้คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียไป (ฎ.186/2503,3091-3092/2523)

เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะมีการผ่อนผันให้จำเลยกระทำการใดๆในกำหนดเวลา ก็เป็นเพียงรอการดำเนินคดีไว้เท่านั้น ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เสียไป (ฎ.3093/2523)

ถ้ามีการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทน ต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยด้วย (ฎ.228/2544) และในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจก็ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นด้วย มิฉะนั้นไม่ถือว่านิติบุคคลนั้นได้ร้องทุกข์แล้ว (ฎ.1590/2530,3831/2532)

การร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าเป็นการร้องทุกข์ การที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เสียหาย การให้การดังกล่าวก็เพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ คำให้การของผู้เสียหายก็ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบได้ (ฎ.2100/2497,1641/2514,2167/2528)

หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดร้องทุกข์ แต่ไม่มีข้อความระบุว่าทำให้ห้างฯได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แทนห้างฯด้วย (ฎ.4070/2540)

คำร้องทุกข์นั้นไม่มีแบบ คำร้องทุกข์จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ (ฎ.719-720/2483) แม้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ลงบันทึกประจำวัน ก็เป็นคำร้องทุกข์แล้ว (ฎ.2371/2522)

การที่ผู้เสียหายมีหนังสือร้องเรียนไปยังเจ้าพนักงานตำรวจ ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยก็เป็นการร้องทุกข์แล้ว (ฎ.244/2507(ประชุมใหญ่)

อำนาจสืบสวน/สอบสวน (มาตรา17-21)

อำนาจสืบสวน(มาตรา17)
ผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ (มาตรา17)

กรณีตำรวจแม้จะได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อื่นก็ถือว่ายังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อาญาอยู่ (ฎ.500/2537,2390/2527,1670/2509)

อำนาจในการสืบสวนของตำรวจแตกต่างกับอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกล่าวคือ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนเฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของตน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา18,19 ส่วนอำนาจสืบสวนไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจให้เจ้าพนักงานตำรวจทำการสืบสวนได้เฉพาะท้องที่ที่ตนประจำการได้เท่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจสืบสวนในท้องที่อื่นได้ตามมาตรา 17 (กล่าวคือ สืบสวนได้ทั่วราชอาณาจักร) และมีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดได้ตามมาตรา 2(16) (ฎ.4711/2542,1259/2542)

พนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่เฉพาะภายในเขตอำนาจปกครองเท่านั้นเว้นแต่มีเหตุร้ายสำคัญในท้องที่ใกล้เคียง(ฎ.912/2498)

อำนาจสอบสวน (มาตรา18)
การสอบสวน หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตาม ป.วิ.อาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ (มาตรา2(11))

ผู้มีอำนาจสอบสวน
จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร(มาตรา 18 วรรคแรก)
ผู้มีอำนาจสอบสวน คือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้

กรุงเทพมหานคร (มาตรา 18 วรรคสอง)
ผู้มีอำนาจสอบสวน คือ ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ข้อสังเกต จะเห็นได้ว่าความผิดเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พนักงานฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจสอบสวนเหมือนต่างจังหวัด โดยหลักแล้ว พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าเกิดขึ้น หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำนาจของตน เป็นผู้มีอำนาจในการสอบสวน ถ้าสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีอำนาจ การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 18 ทำให้พนักงานอัยการไม่มี
อำนาจฟ้องตามมาตรา 120(ฎ.4634/2543,518/2506,726/2483)

การที่ผู้ต้องหาไป ปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาและควบคุมตัวดำเนินคดี เป็นการจับกุมตัว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจดังกล่าวจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ตามมาตรา 18 (ฎ.6916/2542)

พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของตน เป็นการไม่ชอบด้วย
มาตรา 18 แม้จะเป็นการสอบสวนเพียงบางส่วนโดยส่วนอื่นจะเป็นการสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจก็ตาม ถือว่าคดีนั้นมีการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ในมาตรา 120 พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.371/2531) (การสอบสวนเสียไปทั้งหมด) เมื่อการสอบสวนกระทำโดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจแล้ว การสอบสวนนั้นจะกระทำ ณ ที่ใดก็ได้ ซึ่งอาจทำการสอบสวนในท้องที่อื่นก็ย่อมทำได้ (ฎ.661/2490)

ความผิดเกิด อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิด
ความผิดอาญาเกิดขึ้นที่ใดต้องพิจารณาความผิดในแต่ละข้อหา เช่น ความผิดข้อหายักยอกเกิดขึ้นในท้องที่ที่จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นต้น จำเลยรับฝากทรัพย์จากผู้เสียหายแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากไว้ ถือว่าเหตุความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากทรัพย์ พนักงานสอบสวนในท้องที่ดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนได้ (ฎ.1573/2535)

จำเลยวางยาพิษผู้ตายในท้องที่หนึ่ง แต่ผู้ตายไปถึงแก่ความตายในอีกท้องที่หนึ่ง ถือว่าในท้องที่ที่จำเลยวางยาพิษเป็นท้องที่ความผิดเกิด (ฎ.3337/2543)

ความผิดเกิดขึ้นในเรือไทยเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตาม ป.อาญา มาตรา 4 พนักงานสอบสวนกองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จึงมีอำนาจสอบสวน (ฎ.2670/2535)

การที่ตำรวจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจที่ผิดวินัย หาได้หมายความว่าเป็นพนักงานสอบสวนตามมาตรา 18 และการสอบสวนนั้นหาชอบด้วยมาตรา 120ไม่ (ฎ.1305/2482)

แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะวางระเบียบไว้ว่า กองปราบปรามจะทำการสอบสวนตามความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่ง หรืออนุญาตจาก ผบ.ตร. หรือรองผบ.ตร. หรือผู้ช่วยผบ.ตร. ก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนของกองปราบปรามได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้วถึงแม้จะได้รับอนุญาตภายหลังจากที่สอบสวนคดีนี้เสร็จแล้ว การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนของกองปราบปรามกระทำแต่ต้นย่อมชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง (ฎ.3624/2530)


พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 18 วรรคสาม)
ความผิดอาญาได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนคนใด ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน


ความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่ (มาตรา 19)
(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
(4) เมื่อเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน
(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง

(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง

ในกรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้(มาตรา 19 วรรคสอง)

ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ (มาตรา 19 วรรคสาม)

ตามมาตรา 19 วรรคสาม เป็นการแยกว่า แม้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องใดจะมีอำนาจสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ต้องเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ ถ้ายังจับไม่ได้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตามมาตรา 19 วรรคสามบัญญัติไว้ ทำให้เกิดผลเสียแก่คดีได้ โดยถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนคดีนั้นโดยชอบ ตาม ป.วิ.อาญามาตรา 120 มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลต้อง
ยกฟ้อง (ฎ.1974/2539)

ในกรณีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) ตามอนุมาตรานี้น่าจะหมายถึงกรณีก่อนจับกุมผู้ต้องหายังไม่มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ กล่าวคือ ยังไม่ได้เริ่มทำการสอบสวนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว ยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้และมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 19 วรรคสาม(ข) เมื่อมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยชอบแล้ว แม้ต่อมาจะจับผู้ต้องหาได้ในท้องที่อื่นก็ตามพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนก็ยังคงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) (ฎ.1126/2544,4512/2530) และได้มีฎ.1204/2542 วินิจฉัยสนับสนุนว่า เมื่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำความผิดขึ้นก่อนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ก็ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนพ้นจากการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ตัวอย่าง
กรณีไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญากระทำในท้องที่ใดแจ้งความต่อเจ้าพนักงานท้องที่หนึ่ง และไปเบิกความต่อศาลอีกท้องที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนได้ (ฎ.822-823/2490)เหตุเกิดในทะเล ไม่ทราบชัดว่าอยู่ในเขตจังหวัดใดแน่ หรือท้องทะเลหลวง เมื่อผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่ง พนักงานสอบสวนท้องที่นั้นมีอำนาจสอบสวนได้ และศาลจังหวัดนั้นก็มีอำนาจพิพากษาคดีนั้นได้ (ฎ.23/2513)

ตัวอย่าง 
กรณีความผิดส่วนหนึ่งได้กระทำในท้องที่หนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งเช่นยิงปืนข้ามเขต ฆ่าผู้อื่น ลักทรัพย์ท้องที่หนึ่ง เจ้าทรัพย์ติดตามมาพอข้ามไปอีกเขตหนึ่งแล้วยิงเจ้าทรัพย์ กลายเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตัวอย่าง กรณีความผิดต่อเนื่องหลายท้องที่ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือ ฯลฯ
(ตามที่ระบุไว้ใน ป.อาญามาตรา 357) ดังนั้น ในกรณีที่ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน พนักงานสอบสวนในท้องที่ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานรับของโจรได้ด้วย (ฎ.1180/2537,3909/2531)

ความผิดฐานออกเช็คโดยไม่มีเงิน ตามพรบ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

ถือว่าท้องที่ที่จำเลยออกเช็ค เป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินดังนั้นพนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา19(3)(ฎ.1702-1703/2523(ประชุมใหญ่),5103
/2528,2070/2543) 
ข้อสังเกต ในกรณีที่มีการโอนเช็คเปลี่ยนมือกันก่อนนำไปเรียกเก็บเงิน ไม่ถือว่าท้องที่ที่โอนเช็ค เป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (ฎ.650/2538)

ตัวอย่าง
กรณีความผิดหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่าง ๆ กัน
พรากผู้เยาว์ ข่มขืนกระทำชำเรา และทำให้เสียทรัพย์ ในหลายท้องที่ ถือว่าหลายกรรมตาม มาตรา 19(4) (ฎ.408/2519)

ตัวอย่าง 
กรณีความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง

เช่น เล่นการพนันบนรถไฟ พนักงานสอบสวนท้องที่ต่าง ๆ ที่รถไฟผ่านมีอำนาจสอบสวนได้ทำผิดที่กรุงเทพฯ ถูกจับได้ขณะกำลังเดินทางที่เชียงใหม่ ดังนี้ไม่เข้า มาตรา 19(4)

ตัวอย่าง 
กรณีความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
เช่น ผู้เสียหายนั่งรถไฟ ระหว่างเดินทางมีคนร้ายลักกระเป๋าไปพนักงานสอบสวนท้องที่ต่างๆ ที่รถไฟผ่าน มีอำนาจสอบสวน


ความผิดเกิดนอกราชอาณาจักร (มาตรา 20)

ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบผู้ชี้ขาดการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 21)
กรณีจังหวัดเดียวกัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ชี้ขาด 
ถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร ให้รองผบ.ตร.ขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาดกรณีระหว่างหลายจังหวัด ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
การรอคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน

สรุป เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนได้แก่ พนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งความผิดได้ เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าเกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ (มาตรา 18) และถ้าเป็นกรณีมาตรา 19 พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ด้วย (มาตรา 19 วรรคสอง) แสดงว่าในความผิดอาญาคดีหนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้น การสอบสวน อาจกระทำโดยพนักงานสอบสวนหลายท้องที่ โดยมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แก่ พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ความผิดอาญาได้เกิด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวกจึงให้พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 18 วรรคสาม) หรือถ้าเป็นกรณีตามมาตรา 19 ถ้า ผู้ต้องหาถูกจับแล้วพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ผู้ต้องหาถูกจับอยู่ในเขตอำนาจ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 19 วรรคสาม(ก)) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 19 วรรคสาม(ข))จะเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนอาจมีได้หลายท้องที่ แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีได้เพียงท้องที่เดียวเท่านั้น ถ้าการสอบสวนกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 18,19 หรือ 20 หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตาม มาตรา 18 วรรคสามหรือมาตรา 19 วรรคสาม หรือ มาตรา 20 วรรคแรก ถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับไม่มีการสอบสวน มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องการสอบสวน (มาตรา 120-147)

มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

การสอบสวนตามมาตรา 120 หมายถึงการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจฟ้อง คดีอาญาที่มีการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าคดีนั้นไม่มีการสอบสวน มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

1. การสอบสวนที่กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจ ตามมาตรา 18และ 19 การสอบสวนที่กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีอำนาจ ถือว่าไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตามมาตรา 18 วรรคสาม หรือมาตรา 19 วรรคสอง ก็ถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนคดีนั้น พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องเช่นกัน
2. ในคดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามมาตรา 121 วรรคสอง คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องทุกข์ด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวัน เดือน ปีและลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องทุกข์ด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น (มาตรา 123 วรรคสาม)คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ (มาตรา 123 วรรคสอง)ผู้ที่ไปร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ถือว่าคดีความผิดต่อส่วนตัวนั้นไม่มีการร้องทุกข์ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.5603/2542,4384/2528(ประชุมใหญ่),815/2535,243/2529,1338/2532)

เช็คที่ฟ้องเป็นเช็คที่ผู้เสียหายคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกำหมายรวมเข้าไปด้วย ถือว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงไม่ชอบ ส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.30/2543)

ในคดีที่ห้างหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหาย การที่หุ้นส่วนผู้จัดการไปร้องทุกข์ในนามส่วนตัว ไม่ได้กระทำแทนห้างฯ ถือว่าผู้เสียหายแท้จริงไม่ได้ร้องทุกข์ (ฎ.675/2537,5008/2537)

คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 2(7) ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ถ้ามีการมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทน ต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยด้วย (ฎ.228/2544)

คำให้การของผู้เสียหายอาจถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ได้ (ฎ.1641/2514)

ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยระบุความผิดเพียงบางข้อหา ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ในข้อหาอื่นด้วย (ฎ.2429/2537,2501/2527)

เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว แต่พนักงานสอบสวนบกพร่องไม่ระบุข้อหาให้ครบถ้วน ก็ไม่ทำให้การร้องทุกข์เสียไป (ฎ.2167/2528)

การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ (มาตรา 123 วรรคแรก) หรือจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ (มาตรา 124วรรคแรก)

การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น ดังนั้น ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นก็ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบ (ฎ.2974/2516) (**ประเด็นนี้เคยนำไปออกเป็นข้อสอบนายร้อยตำรวจ เมื่อ 24 พ.ย.2545 และข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา เมื่อ 5 ก.ค.2524 มาแล้ว)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ไม่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ (ฎ.1226/2503)

คดีอาญาที่ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ หรือผู้ร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง (ฎ.3753/2543,6318 /2541,5088/2540)

ถ้าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ร้องทุกข์แก่ตนเอง ก็ถือเป็นการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.292/2482)
การแก้หรือถอนคำร้องทุกข์ (มาตรา 126 ) ผู้ร้องทุกข์จะแก้หรือถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้ แต่สำหรับคดีซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น
เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์แล้วถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง ระงับไป ตามมาตรา 39(2) พนักงานสอบสวนก็หมดอำนาจสอบสวนโดยต้องยุติคดีเสีย แต่ถ้ามิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวพนักงานสอบสวนก็ยังคงมีอำนาจสอบสวนต่อไปและพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จนกว่าคดีถึงที่สุด (ฎ.284-285/2538)

ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีทั้งควมผิดอันยอมความได้และที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดอันยอมความได้เท่านั้น พนักงานยังคงมีอำนาจดำเนินคดีที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป (ฎ.1925/2541)

จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาจากความผิดฐานยักยอก แม้ผู้ร้องทุกข์จะถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอก จำเลยก็คงมีความผิดฐานรับของโจรอยู่ (ฎ.6152/2540)

สิทธิขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ตกทอดแก่ทายาท ทายาทจึงขอถอนคำร้องทุกข์ได้ (คำสั่งคำร้องศาลฎีกา ที่ 751/2541)

การที่พนักงานอัยการได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายแล้ว ถือเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ศาลไม่ต้องสอบถามผู้เสียหายอีก (ฎ.1505/2542)

3. การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา (มาตรา 134)เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดา มารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ (มาตรา 134)

ในการแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 นี้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาที่เป็นความผิดหลักแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาที่เป็นความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนได้ทุกข้อหา (ฎ.7628/2541,5433
/2543,3426/2543)

นอกจากนี้แม้แจ้งข้อหาหนึ่งแล้ว หากมีความผิดฐานอื่นปรากฏขึ้นในระหว่างการสอบสวน ก็ถือว่าได้สอบสวนความผิดฐานนั้นด้วยแล้ว(ฎ.6962/2539,4022/2532,1121/2494,545/2496,3288/2535,2276/2537,2873/2531)

การไม่แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบตามมาตรา 134 นี้ เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าวต่อศาลเท่านั้น ในกรณีที่เป็นข้อหาที่ศาลพิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม แม้ข้อหานั้นพนักงานสอบสวนจะมิได้มีการแจ้งข้อหา ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ (ฎ.2129/2537)

ในกรณีผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล การแจ้งข้อหาแก่กรรมการผู้มีอำนาจ แม้ไม่ได้ระบุว่าแจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่นิติบุคคลด้วย ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อหาแก่นิติบุคคลด้วยแล้ว (ฎ.935/2537)


นอกจากนี้ ตามมาตรา 134 พนักงานสอบสวนต้องบอกให้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ ถ้าไม่เตือนก็จะนำคำให้การยันจำเลยไม่ได้ (ฎ.1304/2482) แต่ไม่ถือว่าการสอบสวนไม่เสียไป พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง

การเตือนจำเลยนี้ เมื่อเตือนครั้งแรกแล้ว ต่อมามีการสอบคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติมไม่จำต้องเตือนอีก (ฎ.69/2489)
คำให้การตามมาตรา 134 ต้องเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหา ถ้าสอบสวนในฐานะพยานจะนำมาใช้ยันผู้ต้องหาในชั้นพิจารณาไม่ได้ (ฎ.1581/2531)

การสอบสวนพยานหลายคนพร้อมกันและมีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วย การสอบสวนก็ไม่เสียไป (ฎ.9378/2539)

การจับหรือการตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป เพราะเป็นคนละขั้นตอนกัน (ฎ.99/2541,1547/2540,2699/2516)

การสอบสวนกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องสอบพยานโจทก์ทุกปาก (ฎ.1907/2494,788/2494,6397/2541)

การสอบสวนของพนักงานสอบสวน ในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนก็ถือว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ (ฎ.3096/2536) (**ประเด็นนี้เคยถูกนำไปออกเป็นข้อสอบนายร้อยตำรวจมาแล้ว)

การที่ล่ามแปลคำให้การในชั้นสอบสวนโดยมิได้สาบานหรือปฏิญาณตน ตามมาตรา 13 วรรคสอง ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ (ฎ.5476/2537)

คำฟ้องคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำต้องบรรยายว่าได้มีการสอบสวนแล้ว (ฎ.856/2492) ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่าได้สอบสวนแล้ว ต้องสันนิษฐานว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.2103-2104/2514,1513/2532)

ในกรณีขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเพิ่มเติมฐานความผิด ก็ต้องมีการสอบสวนในฐานความผิดนั้นด้วยเช่นกัน (ฎ.750/2494,801/2511)ถ้าได้มีการสอบสวนในความผิดที่จะขอแก้ฟ้องแล้ว ดังนี้ขอแก้ได้ แม้ให้แก้แล้วจะเกินอำนาจของศาลก็ตาม (ฎ.993/2527)

กรณีที่พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบสวน (มาตรา 122)

(1) เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ
(2) เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
(3) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ

การให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทน (มาตรา 128)

(1) ส่งประเด็นไปให้พนักงานสอบสวนอื่นทำการสอบสวน ในเรื่องที่อยู่นอกเขตอำนาจของตน
(2) การสอบสวนในเรื่องเล็กน้อย ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตน ไม่ส่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น มีอำนาจสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้ แต่ต้องไม่มีกฎหมายเจาะจงให้ทำด้วยตนเอง

การสอบสวนในคดีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ (มาตรา 129)

ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล (มาตรา 129)

หากไม่มีการชันสูตรพลิกศพเลย หรือทำไม่สมบูรณ์ หรือการชันสูตรพลิกศพกระทำไปโดยไม่ชอบก็ไม่ห้ามฟ้องคดี (ฎ.1299-1300/2481,363/2493) (ชันสูตพลิกศพเสร็จอย่างเดียวเป็นหลักเท่านั้น)

ถ้าขณะที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้าย ผู้ตายไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน แม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจพาส่งโรงพยาบาล ก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงไม่ต้องมีการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150 วรรคสาม เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 129 (ฎ.1750/2539)


การสอบสวนสามัญ

มาตรา 130 ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย
พนักงานสอบสวนจะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร ตาม ป.วิอาญา มาตรา130 การที่พนักงานสอบสวนสอบถามข้อเท็จจริงบางประการที่โรงพยาบาล แล้วไปจดในคำให้การที่สถานีตำรวจ โดยระบุว่าเป็นการทำที่สถานีตำรวจ เพียงเหตุเท่านี้ไม่เป็นการทำและรับรองเอกสารเท็จ (ฎ.1680/2532)

การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน (มาตรา 131)

ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด 

การรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวน ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นหลักฐานที่พนักงานสอบสวน สืบสวนหามาได้เอง หรือที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหายื่นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยานหรือที่บุคคลภายนอกส่งมา (ฎ.1390/2522)


อำนาจพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน (มาตรา 132)

ในการรวบรวมพยานหลักฐานพนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ โดยมีอำนาจทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาด จำลองหรือพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น
(2) ค้นเพื่อพบสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการค้น
(3) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อได้จัดส่งสิ่งของมาตามหมายเรียกแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย
(4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวในอนุมาตรา (2) และ (3)


อำนาจพนักงานสอบสวนในการออกหมายเรียกพยานบุคคล (มาตรา 133)

พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย แล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้การถามปากคำนั้น พนักงานสอบสวนจะให้ผู้ให้ถ้อยคำสาบานหรือปฏิญาณตัวเสียก่อนก็ได้ โดยต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยพยานบุคคล
ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน พูดให้ท้อใจ หรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำซึ่งอยากจะให้ด้วยความสมัครใจ

หลักเกณฑ์การสอบสวนผู้ต้องหา
1.ในคดีอาญา ผู้ต้องหาย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 241 วรรคแรก
2. ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 241 วรรคสองสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 241 ซึ่งรับรองให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตัวผู้ต้องหาได้แจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว แล้วพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการจัดให้ การสอบสวนจึงชอบแล้ว แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งสิทธินั้นให้ผู้ต้องหาทราบก่อนสอบปากคำก็ตาม (ฎ.764/2545) (*ข้อสังเกต การแจ้งสิทธินี้ ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต้เมื่อใดก็ตามที่ผู้ต้องหาต้องการใช้สิทธินี้ แล้วปรากฏว่าพนักงานสอบสวนไม่จัดให้ ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป)
3. ผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญา ย่อมมีสิทธิตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตน เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ( รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 241 วรรคสาม )
4. การสอบสวนผู้ต้องหา ต้องแจ้งข้อหาให้ทราบและบอกให้ทราบว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ (มาตรา 134)
5. ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง ขู่เข็ญ หรือให้สัญญากับผู้ต้องหาเพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น (มาตรา 135) และถ้อยคำของบุคคลซึ่งเกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ถูกทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 243 วรรคสอง)การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 135 นี้ มีผลเพียง ใช้เป็นหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลถึงกับทำให้การสอบสวนไม่ชอบ พนักงานอัยการจึงยังคงมีอำนาจฟ้อง (ฎ.4020/2540)

นอกจากนี้ตามมาตรา 135 นี้ ต้องเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้จูงใจให้ผู้ต้องหาให้การอย่างใดๆ ดังนี้ ถ้าพนักงานสอบสวนจูงใจให้ผู้ต้องหานำสิ่งของที่ผิดกฎหมายมามอบให้ ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 135 นี้ (ฎ.1542/2540)

เขตอำนาจศาล (มาตรา 22)

มาตรา 22 เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
(1) เมื่อจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับในท้องที่หนึ่ง หรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตอำนาจศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้นๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้
(2) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย

บทบัญญัติที่ให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลที่จำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับตามมาตรา 22(1)นี้ เป็นบทบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับคดีหรือไม่ (ฎ.2646/2543,2038/2523)

ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลนั้น ต้องเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย จึงจะถือว่าเรือนจำหรือทัณฑสถานเป็นภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ.มาตรา47 ถ้าคำพิพากษานั้นไม่ถึงที่สุดก็ไม่ถือว่าเรือนจำหรือทัณฑสถานที่จำคุกอยู่เป็นภูมิลำเนา โจทก์ฟ้องต่อศาลนั้นไม่ได้ (ฎ.2209/2540)

ท้องที่ที่จำเลยถูกจับตามมาตรา 22(1)นี้ ต้องมีการจับกุมจำเลยจริงๆ ในเขตศาลนั้น ในข้อหาที่ถูกกล่าวหา การที่จำเลยถูกจับกุมในความผิดอื่นแล้วจึงได้มีการอายัดตัวจำเลยมาสอบสวนในคดีที่ถูกกล่าวหานี้ไม่ถือว่าจำเลยถูกจับในข้อหาที่ถูกกล่าวหานี้โจทก์จะขออนุญาตฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยถูกจับในเขตศาลตามมาตรา 22(1) ไม่ได้ (ฎ.8836/2538)

ในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยหนังสือพิมพ์ลงข้อความหมิ่นประมาท ถือว่าท้องที่ที่จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกแห่งเป็นที่เกิดเหตุ (ฎ.2154/2518,2360/2523)

ความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นสถานที่ความผิดเกิดขึ้น ไม่ใช่ธนาคารที่นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บ (ฎ.396/2517)

สถานที่ออกเช็คหรือสถานที่ซื้อสินค้าก็ไม่ใช่สถานที่ความผิดเกิดด้วย ผู้เสียหายจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเองในท้องที่ออกเช็คไม่ได้ (ฎ.1222/2519,1229/2519(ประชุมใหญ่),857/2530)(ผู้เสียหายฟ้องเองต้องฟ้องต่อศาลที่ความผิดเกิด คือศาลที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่เท่านั้น)แต่ถ้าเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง จะมีเรื่องการสอบสวนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้ามรการสอบสวนในท้องที่ที่ออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นความใผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พนักงานอัยการก็ฟ้องที่ศาลที่ออกเช็คได้ตามมาตรา 22(1) (ฎ.1702-1703/2523(ประชุมใหญ่),5103/2528) (เป็นการโยง มาตรา19(3)กับมาตรา 22(1)

ความผิดเกี่ยวพันกัน (มาตรา 24)

ในความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เป็นต้นว่า
(1) ความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทำผิดหลายคนเกียวพันกันในการกระทำความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม
(2) ความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน หรือโดยผู้กระทำผิดทั้งหลายได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว
(3) ความผิดฐานหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีเจตนาช่วยผู้กระทำผิดอื่นให้พ้นจากการรับโทษในความผิดอย่างอื่นซึ่งเขาได้กระทำไว้

ในความผิดเกี่ยวพันกันดังกล่าว จะฟ้องทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทำผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ แต่ถ้ามีอัตราโทษอย่างสูงเท่ากัน ศาลที่มีอำนาจชำระคือศาลซึ่งรับฟ้องเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้ก่อน

กรณีความผิดหลายฐาน ตามมาตรา 24(1) สามารถฟ้องทุกฐานต่อศาลที่มีอำนาจชำระในความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ ถ้าอัตราโทษของฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด ส่วนความผิดฐานอื่นอยู่ในอำนาจศาลแขวง โจทก์ก็สามารถฟ้องจำเลยทุกฐานความผิดต่อศาลจังหวัดได้ โดยไม่ต้องผัดฟ้อง ฝากขังจำเลย ตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ (ฎ.3042/2532,3298/2532,3584/2532)


ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา (มาตรา 28)
บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย

อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างเป็นอิสระต่อกัน แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องไปแล้ว อีกฝ่ายที่เหลือก็สามารถฟ้องคดีเดียวกันได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้อน

ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน แม้ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องผู้กระทำความผิดไปแล้ว ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังมีสิทธิฟ้องผู้กระทำผิดได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้อน (ฎ.769/2535)

แต่ถ้าพนักงานอัยการคนละจังหวัดฟ้องคดีเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อน (ฎ.464/2532)

ผู้เสียหายฟ้องคดีแล้วตายลง (มาตรา 29)

เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือ ภริยา จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริตหรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้ว ผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้

ผู้เสียหายที่ฟ้องคดีแล้วตายลงตามมาตรา 29 นี้ หมายถึงตัวผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วย ถ้าผู้จัดการแทนถึงแก่ความตาย บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้จัดการแทนจะดำเนินคดีต่างผู้ตายตามมาตรา 29 ไม่ได้ (ฎ.1187/2543,2331/2521,578/2535)

ตามมาตรา 29 นี้ ผู้เสียหายจะต้องได้ฟ้องคดีไว้แล้วตายลง ถ้าผู้เสียหายตายก่อนฟ้องคดี อำนาจฟ้องไม่เป็นมรดกตกทอด ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 29 นี้ (ฎ.3395/2525,2219/2521)

ผู้บุพการีและผู้สืบสันดานตามาตรา 29 หมายถึงผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง (5119/2530)แต่กรณีสามีหรือภริยาของผู้เสียหาย ก็ต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ที่มีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายตามมาตรา 29 มีเฉพาะผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีและภริยาเท่านั้น ดังนี้ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ไม่มีอำนาจเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย (ฎ.2242/2533)

เฉพาะกรณีผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 29 วรรคสองนี้ หมายถึง กรณีที่ศาลได้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เสียหายตามมาตรา6 ไว้แล้วก่อนที่ผู้เสียหายจะตายลง(ฎ.3432/2536,1625/2532)

บทบัญญัติมาตรา 29 นำไปใช้ในกรณีที่ร้องขอให้ปล่อยเนื่องจากการคุมขังผิดกฎหมาย ตามมาตรา 90 ด้วย (ฎ.392/2522)

บิดาฟ้องมารดาไว้ ต่อมาบิดาตาย บุตรจะขอรับมรดกความไม่ได้เป็นคดีอุทลุม(ฎ.1551/2494(ประชุมใหญ่)

การขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปตามมาตรา 29 นี้ มิได้กำหนดเวลาไว้ จะนำระยะเวลาการรับมรดกความในคดีแพ่งซึ่งมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 42 มาใช้บังคับไม่ได้ (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 1595/2528)
ผู้ที่ได้รับมรดกความอาจขอให้ศาลจำหน่ายคดีก็ได้ (ฎ.3619/2543)

กรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเองแล้วถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกาซึ่งไม่ต้องมีการสืบพยานกันอีก ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ (ฎ.1244/2504,814/2520(ประชุมใหญ่),217/2506)

คดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ตายหลังจากศาลฎีกาส่งคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นอ่าน แม้ไม่มีผู้รับมรดกความ คดีก็ไม่ระงับ (ฎ.217/2506(ประชุมใหญ่)


โจทก์ร่วม (มาตรา 30,31)

มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา 31 คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้

ต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหายก็ไม่มีสิทธิ (ฎ.892/2516)

ความผิดต่อ พรบ.อาวุธปืนฯและความผิดฐานพาอาวุธฯตาม ป.อาญามาตรา 371 ความผิดต่อ พรบ.จราจรทางบก รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ (ฎ.1141/2531,191/2531)

ความผิดตาม พรบ.ศุลกากรฯ และพรบ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เจ้าพนักงานผู้จับไม่ใช่ผู้เสียหายแม้เจ้าพนักงานผู้จับจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จรางวัลก็ตาม ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ (ฎ.3797-3798/2540) 

ในกรณีเช่นนี้หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานใด ก็หมายถึงอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะฐานความผิดที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เท่านั้น (ฎ.9299/2539,1231/2533,
2830/2535,2830/2534)

ผู้ที่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อมาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ (ฎ.2794/2516,2970/2526)

ถ้าศาลอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้วแม้ภายหลังศาลจะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ก็ไม่ทำให้การดำเนินคดีของโจทก์ร่วมที่ทำไปแล้วเสียไป (ฎ.186/2514,1281/2503)

ถ้าสิทธิของผู้เสียหายระงับไปแล้ว ผู้เสียหายจะเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ (ฎ.816/2523)

ผู้เสียหายต้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ตามมาตรา 30 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้วผู้เสียหายจะขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ (ฎ.392/2512)

โจทก์ร่วมต้องถือคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นหลัก ดังนี้ ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตกไปด้วย (ฎ.1583/2513,1974/2539)

โจทก์ร่วมจะใช้สิทธินอกเหนือไปจากสิทธิของอัยการไม่ได้ จึงไม่มีอำนาจแก้และเพิ่มเติมฟ้อง (ฎ.3833/2525,1370/2522) อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์ร่วมจะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่ได้ แต่มีสิทธิระบุพยานหรือขอสืบพยานเพิ่มเติมได้ (ฎ.568/2513,7572/2542)

ในคดีที่พนักงานอัยการไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย คำขอของโจทก์ร่วมที่ขอให้ถือเอาตามฟ้องของพนักงานอัยการย่อมตกไปด้วย (ฎ.3667/2542)

ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงและมีคำขอส่วนแพ่งด้วย แม้คำขอส่วนแพ่งจะเกินอำนาจศาลแขวง พนักงานอัยการก็มีคำขอต่อศาลแขวงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่อาจถือเอาคำขอส่วนแพ่งนั้น เป็นคำขอของตนได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในส่วนแพ่งได้ (ฎ.4419/2528)

พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนี้หากพนักงานอัยการไม่มาในวันนัดพิจารณา แต่โจทก์ร่วมมา ตะถือว่าโจทก์ขาดนัดและยกฟ้องตามมาตรา 166 ไม่ได้ (ฎ.1519/2497)

สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ฎีกาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความ โจทก์ร่วมจะขอถือเอาฎีกาของพนักงานอัยการโจทก์เป็นฎีกาของโจทก์ร่วมและขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของโจทก์ไม่ได้ (ฎ.3292/2532)

ผู้เสียหายจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่ผู้เสียหายด้วยกันเป็นโจทก์ฟ้องไม่ได้ (ฎ.3320/2528) ในกรณีเช่นนี้ ผู้เสียหายจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยการร้องสอด โดยอาศัย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) ก็ไม่ได้ (ฎ.3935/2529)

เมื่อผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ผู้เสียหายจึงมีฐานะเป็นโจทก์ จะนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน (ฎ.728/2494)

ผู้เยาว์ฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องมีผู้จัดการแทนตามมาตรา 5 จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการก็ไม่ได้เช่นกัน แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม (ฎ.563/2517)

เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว แม้พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์โจทก์ร่วมก็มีสิทธิอุทธรณ์ แต่ผู้เดียว (ฎ.2381/2542)

แต่ถ้าพนักงานอัยการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิ ฎีกา ถือว่าคดีระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา249 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา15 (ฎ.745/2543,3380/2537,7100/2540)

พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนี้แม้โจทก์ร่วมเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ฝ่ายเดียว และศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่ พนักงานอัยการก็มีสิทธิสืบพยานต่อได้ (ฎ.100/2512 (ประชุมใหญ่)

การรวมพิจารณา (มาตรา33)

คดีอาญาเรื่องเดียวกันซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน ศาลนั้นๆมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เมื่อศาลเห็นชอบโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษา
แต่ทว่าจะมีคำสั่งเช่นนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมของศาลอื่นก่อน

เมื่อรวมพิจารณาคดีแล้ว การฟังพยานหลักฐานต้องฟังทุกสำนวนรวมกัน (ฎ.133-134/2491(ประชุมใหญ่)
เมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดี แม่ไม่มีการรวมพิจารณาก็ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะโจทก์เป็นคนละคนกัน แต่กรณีเช่นนี้หากคดีใดตัดสินแล้วก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องตามมาตรา 39(4) สิทธิในการฟ้องอีกคดีหึ่งก็ระงับไปด้วย (ฎ.1438/2527)


ถอนฟ้อง (มาตรา 35,36)

มาตรา 35 คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญา (ที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว) จะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องถอนฟ้องนั้นเสีย
คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้น


การถอนฟ้องในคดีความผิดต่อส่วนตัว เป็นสาเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตามมาตรา 39(2) 

ผลของการถอนฟ้อง (มาตรา 36)
คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาฟ้องอีกไม่ได้
เว้นแต่
(1) คดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(2) คดีอาญาซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไปโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(3) คดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

การถอนฟ้องคดีอาญาจะถอนฟ้องได้จนถึงเวลาใดนั้น ต้องดูประเภทคดี กล่าวคือ ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ก็ขอถอนฟ้องได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวจะถอนฟ้องหรือยอมความได้ก่อนคดีถึงที่สุด

ดังนั้น ในคดีความผิดอาญาแผ่นดิน โจทก์จะขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ แต่ถ้าคดีดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์หรือฎีกาถือว่าคำร้องขอถอนฟ้องดังกล่าวเป็นการขอถอนฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกานั่นเอง (ฎ.751/2537)

ในคดีความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ถ้าศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีย่อมกลับมาสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีก โจทก์ขอถอนฟ้องได้ (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 278/2525)

คดีถึงที่สุดเมื่อใด ถ้าไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าคดีถึงที่สุดนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาได้สิ้นสุดลง แม้ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ก็อาจอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายหรืออาจมีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีจึงถึงที่สุดเมื่อครบกำหนดเวลาอุทธรณ์ฎีกา ไม่ใช่นับแต่วันอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงถอนฟ้องหรือยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวได้ในระหว่างกำหนดอุทธรณ์ ฎีกาได้ (ฎ.568/2528(ประชุมใหญ่)

ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา ผู้ฎีกาจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา แม้จะล่วงเลยระยะเวลาฎีกาแล้วก็ตาม ก็ถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด (ฎ.35/2522,973/2525,85/2536)

คดีความผิดต่อส่วนตัวที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี พอแปลความได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอถอนฟ้อง ศาลสั่งอนุญาตให้ถอนได้ (ฎ.142/2534)

ในกรณีที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับลงตามมาตรา 39(2) ศาลสูงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลล่างระงับไปในตัว ศาลสูงไม่ต้องพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างอีก (ฎ.438/2505(ประชุมใหญ่), คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่1264/2523)

ในกรณีโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วม มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้อง (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 892/2514)
แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ผู้เสียหายจะขอถอนฟ้องไม่ได้ ศาลฎีกาตีความว่าคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเท่ากับเป็นการถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับเช่นกัน (ฎ.1241/2526)

การอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วและคัดค้าน ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้องจะใช้ดุลพินิจไม่ได้ (ฎ.698/2481)

ผลของการถอนฟ้องตามมาตรา 36 จะนำมาฟ้องอีกไม่ได้ แม้คดีจะยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม (ฎ.2927/2529)

การถอนฟ้องอันมีผลทำให้ฟ้องใหม่ไม่ได้ตามมาตรา 36 นี้ หมายถึงการการถอนฟ้องโดยเด็ดขาด การขอถอนฟ้องเพื่อร่วมเป็นโจทก์กับสำนวนของพนักงานอัยการไม่ใช่การถอนฟ้องโดยเด็ดขาด สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับตามมาตรา 39(2) พนักงานอัยการยังมีอำนาจฟ้องไม่ต้องห้ามตามมาตรา 36 (ฎ.855/2481,1245/2515,707/
2516) 

แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายเพิ่งมายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการภายหลังถอนฟ้องแล้วเป็นเวลากว่า 10 เดือน แสดงว่าผู้เสียหายมีเจตนาขอถอนฟ้องโดยเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับ (ฎ.1765/2539)

ในกรณีฟ้องผิดศาลแล้วขอถอนฟ้องเพื่อไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด ฟ้องใหม่ได้ (ฎ.203/2531)

แต่การที่โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าขอถอนฟ้องเป็นการชั่วคราว เพื่อสอบถามไปยังกรมกองทหารว่าจำเลยเป็นทหารประจำการหรือไม่ ถือว่าเป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดแล้ว ฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ.924/2530) หรือถอนฟ้องเพื่อรอฟังผลคดีแพ่ง เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดแล้ว ฟ้องใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ.440/2497) หรือขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าฟ้องบกพร่อง ขอถอนฟ้องเพื่อจะนำไปดำเนินคดีใหม่ ถือว่าเป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดแล้ว โจทก์นำมาฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ.924/2530)

ในความผิดที่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วขอถอนฟ้องไป ย่อมตัดสิทธิเฉพาะผู้เสียหายคนนั้นไม่ให้ฟ้องใหม่ ส่วนผู้เสียหายคนอื่นยังมีสิทธิฟ้องได้อีกไม่ถูกตัดสิทธิตามมาตรา 36 (ฎ.5934-5935/2533)

แต่ถ้าเป็นกรณีผู้เสียหายคนเดียวกันมีผู้จัดการแทนตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องและถอนฟ้องไปแล้ว ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (ฎ.1790/2492)

คดีที่ถอนฟ้องไปแล้วจะนำมาฟ้องใหม่ไม่ได้ หมายถึงฟ้องในเรื่องเดียวกัน แม้คดีที่ฟ้องใหม่จะบรรยายฟ้องต่างกับคดีแรกก็ตาม (ฎ.3537/2527)


คดีอาญาเลิกกัน (มาตรา 37,38)
ตามมาตรา 37 คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
(1) ในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษหรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกียวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษหรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานครเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไปหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆได้เปรียบเทียบแล้ว
(4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของเจ้าพนักงานแล้ว

มาตรา 38 ถ้าความผิดตามมาตรา 37(2),(3)และ(4) ถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก ให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับดังนี้
(1)ให้กำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะพึงชำระถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกิน 15 วัน คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอนยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด
(2)ในคดีมีค่าทดแทน ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ ให้เจ้าหน้าที่กะจำนวนตามที่เห็นสมควรหรือตามที่คู้ความตกลงกัน

ในคดีทำร้ายร่างกาย ครั้งแรกผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษและผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว แต่ต่อมากลับปรากฏว่าบาดแผลที่ได้รับอันตรายสาหัส เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 297 ซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษ จึงเป็นคดีที่ไม่อาจเปรียบเทียบได้ ดังนั้นการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนไม่มีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของระงับไป (ฎ.354/2541)

กรณีที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ข้อหาที่มีโทษเบากว่ามีอัตราโทษที่อยู่ในข่ายที่จะเปรียบเทียบได้ แต่ถ้าข้อหาหนักอัตราโทษไม่อยู่ในข่ายที่เปรียบเทียบปรับได้ เช่นนี้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับในข้อหาที่เบากว่า เพราะการกระทำที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนัก ตามป.อาญา มาตรา 90 หากพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปก็ไม่มีผลทำให้คดีเลิกกัน ศาลก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ (ฎ.2849/2540,1513/2532,1100/2516) 

แต่ถ้าเป็นการกระทำหลายกรรม(หลายกระทง) การพิจารณาเปรียบเทียบปรับก็พิจารณาเป็นรายข้อหา ข้อหาใดอัตราโทษอยู่ในข่ายเปรียบเทียบได้ พนักงานสอบสวนก็เปรียบเทียบได้ ข้อหาใดเปรียบเทียบไม่ได้ก็ดำเนินคดีต่อไป



สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ (มาตรา39)

หลักเกณฑ์ มีดังนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิด ยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ศาลต้องจำหน่ายคดีจากสารบบความ มิใช่พิพากษายกฟ้อง (ฎ.8308/2543) และถ้าเป็นคำสั่งจำหน่ายของศาลสูงก็มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลล่างระงับไปในตัว ไม่ต้องพิพากษายกฟ้อง (ฎ.4577/2543) ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้ เป็นกรณีที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ศาลจึงต้องจำหน่ายคดีจากสารบบความ (แต่ถ้าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปก่อนโจทก์ฟ้อง ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้น ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง)



จำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ (มาตรา 39(1))

ผู้กระทำผิดใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป อาวุธปืนซึ่งเป็นปืนมีทะเบียนของผู้อื่นที่ผู้ตายใช้ยิงเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่อาจริบได้ (ฎ.2456/2530)

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยตายมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลล่างในส่วนให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ระงับไปด้วย (ฎ.1547/2529) ทั้งนี้แม้ผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยก็ตาม (ฎ.3271/2531) แต่ถ้าผู้เสียหายฟ้องเอง ในส่วนแพ่งต้องมีการรับมรดกความตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 42 (ฎ1238/2493)


ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว (มาตรา 39(2))

ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว
ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีทั้งความผิดต่อส่วนตัว และที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้พนักงานอัยการยังคงมีอำนาจดำเนินคดีในความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวต่อไป (ฎ.1127/2544,1925/2541)

คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายจะถอนฟ้องไม่ได้ ถ้าผู้เสียหายขอถอนฟ้องแสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่ใช้คำผิดว่าถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม มาตรา 39(2) (ฎ1241/2526,คำสั่งศาลฎีกาที่ 4967/2541)

การถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากผู้เสียหายได้นำคดีมาฟ้องเอง ไม่ใช่ถอนเพื่อไม่เอาผิด ไม่ทำให้คดีระงับ (ฎ.994/2543,1962/2506,1792/2522)

เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับทันที การที่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่ทำให้กลับมีสิทธิฟ้องอีก (ฎ.484/2503)

สิทธิในการร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (เช่น ความผิดฐานยักยอกหรือทำให้เสียทรัพย์)ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อผู้เสียหายตาย ทายาทของผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ได้(ฎ.206/2488,11/2518,คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 751/2541)

เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว คำขอในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย อัยการโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืน หรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายตามมาตรา 43 ได้อีกต่อไป (ฎ.2567/2526,3491/2534)

ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ บิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จะถอนคำร้องทุกข์ฝ่าฝืนต่อความประสงค์ของผู้เยาว์ ศาลอาจไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์(ฎ.214/2494(ประชุมใหญ่))

ผู้เสียหายตกลงกับจำเลยว่าจะไปถอนคำร้องทุกข์ มีผลเป็นการยอมความแล้ว แม้จะยังไม่ถอนคำร้องทุกข์ก็ตาม มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป (ฎ.1977/2523)

แต่ถ้าตกลงว่าจะถอนคำร้องทุกข์โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้ผู้เสียหายก่อนเมื่อจำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันแล้ว (ฎ.3019/2543,6916/2542,2498/2528)

การที่ผู้เสียหายบอกกับตำรวจว่าไม่ติดใจเอาเรื่อง ไม่ถือว่าเป็นการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ (ฎ.6045/2531)

การที่ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่เอาโทษจำเลย ไม่เป็นการถอนคำร้องทุกข์(ฎ.8283/2506) แต่ได้มีคำสั่งศาลฎีกาที่ 4548/2539 วินิจฉัยว่าเป็นการยอมความแล้วการถอนคำร้องทุกข์ ผู้เสียหายจะขอถอนต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลก็ได้ แล้วแต่กรณี (ฎ.240/2484)

การที่พนักงานอัยการได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายแล้ว ถือเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ศาลไม่ต้องสอบถามผู้เสียหายอีก (ฎ.1505/2542)

คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล หากมีคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลต้องพิจารณาคำร้องเสียก่อนที่จะดำเนินคดีต่อไป (ฎ.2209/2527,คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 1442/2530)

ในคดีความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด(คำสั่งศาลฎีกาที่1150/2534,1/2528,ฎ.3912/2531,1374/2509)

เมื่อถอนคำร้องทุกข์แล้วศาลต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี จะพิพากษายกฟ้องไม่ได้(ฎ.2689/2527,6097-6098/2534)

ในกรณีที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ก็ระงับไปในตัว ไม่มีผลบังคับอีกต่อไป (ฎ.537/2542)


ยอมความ
การยอมความในคดีอาญาไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ(ฎ.353/2532,976/2508,1977/2523)

ในกรณีความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท บางข้อหาเป็นความผิดต่อส่วนตัวและบางข้อหาก็เป็นความผิดต่อแผ่นดิน การยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปก็แต่เฉพาะข้อหาความผิดอันยอมความได้เท่านั้น (ฎ.1904/2540)

ถ้าการกระทำผิดกรรมเดียวโจทก์ขอให้ลงโทษทั้งข้อหาความผิดต่อส่วนตัว และความผิดอาญาแผ่นดิน หากศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษเฉพาะข้อหาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวและยกฟ้องข้อหาความผิดอาญาแผ่นดิน ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว จึงยอมความกันในชั้นพิจารณาของศาลสูงได้ เช่น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา.362,365ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ป.อาญา มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิต่อส่วนตัวและยกฟ้องความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 365 ซึ่งเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เช่นนี้ โจทก์และจำเลยอาจยอมความในชั้นฎีกาได้ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป (ฎ.2257/2540)ทำสัญญาว่าจะถอนฟ้องไม่ดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว แม้จะยังไม่ถอนฟ้อง ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ.2257/2540,1433/2506,930/2530,
1009/2533,980/2533)

การยอมความที่มีเงื่อนไข การยอมความกันโดยมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถือว่าไม่เป็นการยอมความโดยเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจะระงับไปต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นแล้ว(ฎ.1500/2536,1605/2538,4034/2535,3093/2523,2016/2500)

ยอมความโดยมีเงื่อนไขว่าหากหยุดบุกรุกก็ไม่เอาเรื่อง เห็นได้ชัดว่าจำเลยต้องหยุดบุกรุกผู้เสียหายจึงจะไม่เอาเรื่อง ดังนั้น หากต่อมาบุกรุกอีก ความผิดที่บุกรุกครั้งแรกก็ไม่ระงับ (ฎ.2016/2500 (ประชุมใหญ่))

การยอมความที่ไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถือว่าสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับในทันที แม้ภายหลังจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ตาม (ฎ.67/2524,2825/2539,3767/2527) 

การพูดให้อภัยจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้เสียหายไม่เป็น การยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย(ฎ.3038/2531) 

ถ้าข้อตกลงที่ให้ถอนฟ้องนั้นมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องชำระหนี้ก่อน ถ้าจำเลยยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกัน(ฎ.1724/2539) เช่นเดียวกับตกลงว่าจะไปถอนคำร้องทุกข์ เมื่อตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ไปถอนคำร้องทุกข์ ผลแห่งการตกลงดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการยอมความแล้ว (ฎ.1977/2523)

ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง ภายหลังยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ทั้งที่ไม่เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ.3630/2532)

การยอมความ ตามมาตรา 39(2) นี้ หมายถึง การยอมความทางอาญาเท่านั้น และต้องมีข้อความชัดแจ้งว่ามีการยอมความกันในทางอาญาด้วย ดังนี้ การตกลงประนีประนอมยอมความกันในทางแพ่ง (นอกศาล) โดยไม่ได้กล่าวถึงคดีอาญา คดีอาญาไม่ระงับ (ฎ.200/2508)

การตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่ง (ในศาล) โดยไม่ได้ตกลงให้ความรับผิดทางอาญาระงับหรือหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาด้วยไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาด้วย(ฎ.480/2518,3909/2532,2276/
2543)

ข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็ค มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ หนี้เดิมตามเช็คยังมีอยู่ ไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกันตาม พรบ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 (ฎ.2420/2541)

เมื่อยอมความกันถูกต้องแล้ว แม้ผู้เสียหายจะแถลงต่อศาลว่าสุดแต่ศาลจะพิจารณา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับไป (ฎ.73/2523)

แต่ถ้ายังไม่มีการยอมความกัน การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องฝ่ายเดียว โดยต่อศาลว่าไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป ดังนี้ไม่ใช่การยอมความ เป็นเพียงการแถลงขอให้ศาลปราณีเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษเท่านั้น (ฎ.260/2536,238/2524)

ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่ติดใจเอาความ ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันแล้ว (คำสั่งศาลฎีกาที่ 4548/2539)

การยอมความจะต้องกระทำภายหลังความผิดเกิดแล้ว ข้อตกลงล่วงหน้าไม่ถือว่าเป็นการยอมความ (ฎ.1403/2508)

การที่จำเลยนำเงินที่ยักยอกมาคืนผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ได้ตกลงให้ระงับคดีอาญาด้วย เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการยอมความ (ฎ.3680/2531)


ฟ้องซ้ำ (มาตรา39(4))

หลักเกณฑ์ เมื่อมีพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ
คดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม (ฎ.3488/2529,3116/2525)

การกระทำผิดกรรมเดียวกันมีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องคดีจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ผู้เสียหายคนอื่นก็จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ (ฎ.1853/2530,6678/2531)

ในความผิดอาญาเรื่องเดียวกัน ผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องต่อศาลโดยไม่ได้มีการรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน หากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีหนึ่งคดีใดแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในอีกคดีหนึ่งย่อมระงับไป แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ตาม (ฎ.1037/2501,1438/2527)

ในกรณีจำเลยหลายคนถูกพนักงานอัยการฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยในคดีนั้นจะไปฟ้องจำเลยด้วยกันในคดีใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ.783/2493,999/2512)

ศาลลงโทษจำเลยฐานะละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว พนักงานอัยการและผู้เสียหายมาฟ้องเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะที่ศาลลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นการลงโทษโดยไม่มีโจทก์ฟ้อง (ฎ.1120/2539,87/2484,2302/2522)

คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด
กรณีที่จะถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว อันจะมีผลทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) นี้ คำพิพากษานั้นจะต้องวินิจฉัยถึงความผิดของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาความผิดด้วย จึงจะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว เช่น ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องศาลพิพากษายกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เท่ากับโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้ ดังนี้จะฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ.1382/2492)

แม้จะเป็นการพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง หากมีการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งการกระทำของจำเลยแล้วว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ.2757/2544)

ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด เท่ากับฟังว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว (ฎ.1864-1865/2500,687/2502)

ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องมิได้กล่าวถึงเวลาและสถานที่ซึ่งจำเลยกระทำผิดเท่ากับฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดในเวลาหรือสถานที่ใด เป็นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยแล้ว ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ.687/2505(ประชุมใหญ่),1525/2522,1983/2499,776/2490(ประชุมใหญ่))

แม้การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่ายังมิได้มีคำพิพากษาในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ตาม แต่ระหว่างที่คดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์มาฟ้องใหม่ย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 ประกอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 15 (ฎ.1012/2527)

ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาล ไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย จึงฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ.3981/2535)

กรณีโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ตามมาตรา 166 ศาลต้องยกฟ้อง แต่ถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ดังนี้ ฟ้องใหม่ได้ (ฎ.162-163/2516)

ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
กรณีที่เป็นการกระทำเดียวกัน หรือเป็นมูลกรณีเดียวกัน จะฟ้องฐานความผิดเดียวกันหรือต่างฐานความผิดกันก็เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ.3975/2543,801/2503)

การกระทำที่เป็นกรรมเดียวกัน เช่น รับของโจรไว้หลายรายการในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นทรัพย์ผู้เสียหายต่างรายกัน ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์ฟ้องจำเลยฐานรับของโจรซ้ำอีกไม่ได้ (ฎ.6678/2531,628/2536,4747/2533)


คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาล ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 39(4) เพราะทั้งสองคดีเกิดจากการกระทำอันเดียวกันของจำเลย (ฎ.3116/2525,2387/2525,1124/2496(ประชุมใหญ่)

ตามมาตรา 39(4) ใช้คำว่า มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด”ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง” หมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ ไม่ได้หมายถึงฐานความผิด ดังนั้น การกระทำความผิดในคราวเดียวกันหรือการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ แม้จะขอให้ลงโทษคนละฐานความผิดก็ตาม (ฎ.1656/2512,3792/2524,1126/2509(ประชุมใหญ่),424/2520,1499/2531,290/2543ฯลฯ)

จำเลยบุกรุกอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปกระทำความผิดอาญาข้อหาอื่น เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยบางข้อหาจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว โจทก์จะนำข้อหาอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้ (ฎ.1193/2529)

เบิกความเท็จหลายตอนในคราวเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียว (ฎ.908/2496)

จำเลยลักทรัพย์ของคนหลายคนในคราวเดียวกัน เป็นกรรมเดียวกัน (ฎ.1104/2504)

แต่หากจำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายหลายคนติดต่อกัน ถือว่าเป็นต่างกรรมกัน (ฎ.1520/2506)

ในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทหนึ่งเสร็จไปเพราะศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเนื่องจากผู้เสียหายร้องทุกข์ ถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามมาตรา 39(4) จึงไม่ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดอื่นที่เป็นกรรมเดียวกันนั้นระงับไปด้วย (ฎ.7320/2543)

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา (มาตรา 40-51)

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา หมายถึง คดีซึ่งผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญานั้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนควมเสียหายที่ตนได้รับเนื่องจากการกระทำผิดอาญานั้นอีกด้วย โดยในการฟ้องนั้นอาจจะฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีอาญาหรือคดีแพ่งก็ได้ ซึ่งในการพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ในการยื่นคำให้การคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยสามารถยื่นคำให้การได้ในวันสืบพยานโจทก์ ไม่จำต้องภายใน 15 วันเหมือนเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยต้องแสดงโดยแจ้งชัดว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172ด้วยคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป คำขอในส่วนแพ่งก็ตกไปด้วย ศาลต้องจำหน่ายคดี (ฎ.1547/2529,268/2536,3271/2531)

ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายฟ้องเอง ศาลสั่งไม่ประทับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย หมายถึงคดีส่วนอาญาเท่านั้น แต่ในคดีส่วนแพ่งถือว่าผู้ถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลยแล้ว (ฎ.1881/2519) 

คดีแพ่งฟ้องเรียกเงินตามเช็คไม่ใช่คดีแพ่งเกียวเนื่องกับคดีอาญา ตามพรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค (ฎ.120/2540)

พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหาย (มาตรา 43,44)

มาตรา 43 คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์หรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย


มาตรา 44 การเรียกทรัพย์สินหรือราคาตามมาตราก่อน พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้

ความผิดฐานยักยอกตามที่ระบุไว้ในมาตรา 43 ศาลฎีกาตีความว่า หมายถึง ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกด้วย (ฎ.631/2511) ส่วนความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกสินบนที่ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกด้วย พนักงานอัยการไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ (ฎ.378/2520)

สิ่งที่พนักงานอัยการจะขอได้คือ ทรัพย์สิน หรือราคาทรัพย์ที่สูญเสียไปจากการกระทำความผิดโดยตรงเท่านั้น ไม่รวมถึงความเสียหายอย่างอื่น เช่น ดอกเบี้ย ค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าไถ่ทรัพย์เป็นต้น
แต่ถ้าผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการย่อมมีคำขอให้ใช้ดอกเบี้ยด้วยได้ แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่ตนเรียกร้อง (ฎ.1976-1977/2505(ประชุมใหญ่)

หากทรัพย์ที่ได้ไปจากการกระทำความผิดได้แปรรูปไปเป็นทรัพย์อย่างอื่น เช่น ขายทรัพย์ได้เงินมา จะขอให้คืนไม่ได้ (ฎ.384/2519)

แต่สลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลและมีการนำไปขึ้นรางวัลแล้ว การขอคืนสามารถขอให้คืนเงินเท่ากับที่ถูกรางวัลได้ (ฎ.772/2520(ประชุมใหญ่),2096/2530)

ค่าแรงที่เสียไปในคดีฉ้อโกงแรงงานขอให้คืนไม่ได้ (ฎ.3303/2531)

ในกรณีทรัพย์ที่ถูกกระทำความผิดเป็นสัญญากู้ จะขอให้จำเลยชดใช้เงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญาไม่ได้ (ฎ.40/2508)

แม้ศาลจะพิจารณาเห็นว่าในคดีอาญาการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด แต่ก็มีอำนาจสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาตามคำขอของพนักงานอัยการได้(ฎ.4881/2539,1657/2520)

การได้ทรัพย์มามีมูลที่มาจากสัญญาทางแพ่ง และการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ย่อมไม่อาจขอคืนหรือใช้ราคาได้ (ฎ.3112/2523)

คำฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 43 หากศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดฐานอื่นนอกจากที่โจทก์ขอให้ลงโทษมา ย่อมสั่งให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้ (ฎ.3793/2530)

การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทซึ่งมีความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 43 รวมอยู่ด้วย แม้ศาลจะลงโทษบทหนักซึ่งไม่ใช่ความผิดฐานที่ระบุไว้ในมาตรา 43 แต่ก็ย่อมสั่งให้คืนหรือใช้ราคาได้ (ฎ.255/2531)

ท้ายคำบรรยายฟ้องไม่ได้ขอให้ลงโทษในความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 43 แต่ในเนื้อหาของคำฟ้องได้บรรยายให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 43 ดังนี้โจทก์ย่อมขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้ (ฎ.476/2515)

คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร หากจำเลยรับสารภาพฐานรับของโจรก็ย่อมต้องคืนทรัพย์หรือใช้ราคาเพียงเท่าที่เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจร (ฎ.855/2530(ประชุมใหญ่)

คดีส่วนอาญาต้องตกไปไม่ว่าเพราะเหตุใด คำร้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ย่อมตกไปด้วย (ฎ.2512/2537)

ถ้าพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาและมีคำขอให้คืนหรือใช้ราคา หากคดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ถ้าผู้เสียหายนำคดีมาฟ้องเป็นคดีแพ่งอีก คำฟ้องในคดีแพ่งย่อมเป็นฟ้องซ้อน (ฎ.1330/2533)

หากพนักงานอัยการมีคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัะย์เมื่อผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในส่วนคำขอส่วนแพ่ง (ฎ.1103-1104/2496)

ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวงพนักงานอัยการสามารถขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้แม้ว่าทุนทรัพย์ที่ขอให้คืนหรือใช้ราคาจะเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงก็ตาม แต่คำขอในส่วนที่เกินอำนาจศาลแขวงนี้ หากผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ก็ไม่อาจจะถือเอาคำขอในส่วนดังกล่าวเป็นคำขอของโจทก์ร่วมได้ (ฎ.4419/2528,
180/2490)

แม้โจทก์จะไม่ขอให้คืนทรัพย์แต่ศาลก็สั่งให้คืนแก่เจ้าของได้ ตามมาตรา 49 (ฎ.3712/2532)


การฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา (มาตรา 46)

มาตรา 46 ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
คำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นต้องถึงที่สุด เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน (ฎ.2839/2540)

แม้ข้อเท็จจริงจะถึงที่สุดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ผูกพันในคดีแพ่ง (ฎ.1948/2520)

ข้อเท็จจริงในคดีอาญาต้องเป็นประเด็นโดยตรงจึงจะผูกพันคดีแพ่ง (ฎ.1252/2533)

ถ้าประเด็นที่ศาลวินิจฉันเป็นประเด็นปลีกย่อยศาลที่พิจารณาคดีแพ่งรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ (ฎ.695/2540)

คดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งด้วยจึงจะผูกพันคดีแพ่ง (ฎ.1256/2538)กรณีที่ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยังถือไม่ได้ว่าวินิจฉัยโดยชัดแจ้ง (ฎ.928/2507) แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ ถือว่าได้วินิจฉัยประเด็นไว้โดยชัดแจ้งแล้ว (ฎ.4209/2533)

ถ้าศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยไว้ในคดีส่วนอาญา คดีแพ่งสามารถรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ (ฎ.7/2491(ประชุมใหญ่)

คำรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ผูกพันในคดีแพ่งให้ต้องถือตาม (ฎ.1000/2505)
คู่ความในคดีอาญาและคดีแพ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน (ฎ.36/2501)

ผู้เสียหายแม้ไม่ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก็ถือว่าเป็นคู่ความคดีอาญาและต้องผูกพันคำพิพากษาส่วนอาญา (ฎ.2910/2540) แต่ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาก็ไม่ผูกพัน (ฎ.5589/2534(ประชุมใหญ่)

กรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีอาญา เพราะมีส่วนกระทำผิดด้วย คำพิพากษาว่าโจทก์ประมาทร่วมด้วยนั้นผูกพันโจทก์ด้วย (ฎ.1601-1603/2529)

ถ้าเป็นบุคคลภายนอก เช่น ผู้รับประกันภัย หรือ นายจ้างซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพัน (ฎ.9734-9735/2539)

กรณีที่คำขอส่วนแพ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เทื่อในส่วนคดีอาญาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงอย่างไร ในส่วนคดีแพ่งก็ต้องถือตาม (ฎ.3548/2539)

ในกรณีตรงกันข้ามหากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาแต่คดีส่วนแพ่งไม่ต้องห้าม ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ต้องฟังข้อเท็จจริงในส่วนอาญา (ฎ.45/2507)

คดีอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง (ฎ.1446/2526)

การสอบปากคำเด็กในชั้นสอบสวน 

ป.วิ.อาญาได้กำหนดให้มีการสอบปากคำเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนับถึงวันสอบปากคำในฐานะพยาน ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา

การสอบปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน ต้องดำเนินการตามมาตรา 133 ทวิ กล่าวคือ
1. ต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่เหมาะสม สำหรับเด็ก
2. ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมด้วย เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าว เข้าร่วมสอบปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเด็กโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดดังกล่าว อยู่ร่วมก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายการแจ้งนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงาน อัยการให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน
3. พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียง การสอบปากคำดังกล่าวไว้เป็นพยาน


คดีที่การสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยาน ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 133 ทวิ มีดังนี้
- คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
- คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 3 ปี และผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กร้องขอ
- คดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี

การให้พยานเด็กชี้ตัวผู้ต้องหา (มาตรา 133 ตรี)
1. ต้องจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหาในสถานที่เหมาะสมและสามารถที่จะป้องกันมิให้ผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหายหรือยาน
2. ให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย เว้นแต่ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควร บุคคลดังกล่าวไม่อาจเข้าร่วมในการชี้ตัวผู้ต้องหาพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการชี้ตัวผู้ต้องหาโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวอยู่ร่วมก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การจดบันทึกคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายที่เป็นเด็ก
ตามมาตรา 124 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 133 ทวิมาใช้บังคับ โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นคดีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 133 ทวิ ต้องจัดให้มีการร้องทุกข์ในสถานที่ที่เหมาะสม โดยมี นักจิตวิทยาหรือสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย

การสอบปากคำเด็กในฐานะผู้ต้องหา
การถามเรื่องทนายความ (มาตรา 134 ทวิ)

ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิด 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวน แจ้งข้อห้า ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

***ข้อสังเกต 
- การถามเรื่องทนายความ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นความผิดที่มีโทษเท่าใด
- อายุของเด็กให้ดูในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่ใช่วันที่กระทำผิด
- ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความ ก็ต้องจัดหาให้โดยไม่ดูว่าผู้ต้องหาต้องการหรือไม่
- พนักงานสอบสวนต้องถามผู้ต้องหาเรื่องทนายความก่อนเริ่มคำให้การ

คดีที่อยู่ในข่ายต้องดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก (มาตรา 134 ทวิประกอบมาตรา 133 ตรี)
- คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
- คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 3 ปี และผู้ต้องหาที่เป็นเด็กร้องขอ
- คดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี


การเนินการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก (มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ)

1. ต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่เหมาะสม สำหรับผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก
2. ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่ผู้ต้องหาร้องขอและพนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาด้วย เว้นแต่ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่รอบุคคลดังกล่าว เข้าร่วมสอบปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหาโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวอยู่ร่วมก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวนและมิให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายการแจ้งนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่ผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการแจ้ง

**ข้อสังเกต ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีนี้ เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 134 ทวิ แล้วแสดงว่าต้องมีทนายความเข้าร่วมในการสอบปากคำด้วย
3. พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการบันทึกภาพ และเสียงการสอบปากคำดังกล่าวไว้เป็นพยาน

การสอบสวนผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวน ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา 134 ทวิ และมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มิฉะนั้นการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ตามมาตรา 120 (ฎ.5252/2545)

การสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มเติม ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 139 ทวิ ทุกครั้ง

พยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หน้าที่นำสืบในคดีอาญา (มาตรา 174) โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบก่อนเสมอ
มาตรา 174 ก่อนนำพยานเข้าสืบ โจทก์มีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีโจทก์ คือ แถลงถึงลักษณะของฟ้อง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเสร็จแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยมีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีจำเลย โดยแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายซึ่งตั้งใจอ้างอิง ทั้งแสดงพยานหลักฐานที่นำสืบ เสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบเมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยมีอำนาจแถลงปิดคดีของตนด้วยปากหรือหนังสือหรือทั้งสองอย่างในระหว่างพิจารณา ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานหรือทำการอะไรอีก จะสั่งงดพยานหรือการนั้นเสียก็ได้มาตรา 175 เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควรศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้

สรุปหลักสำคัญ
จำเลยต่อสู้ว่ากระทำเพื่อป้องกัน เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบ (ฎีกาที่ 943/2508)

ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยกระทำผิด ดังนั้น จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดจากคำเบิกความ จำเลยมาลงโทษจำเลยไม่ได้ฎีกาที่ 806/2528 ในคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดใช้เช็ค ข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่จำเลยออกเช็ค จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงนั้น เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงต้องยกฟ้องโดยเหตุผลเดียวกันนี้ จึงนำเรื่องคำท้ามาใช้ในคดีอาญาไม่ได้ (ฎีกาที่ 1570/2511)

อายุความฟ้องในคดีอาญา เป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบว่าคดียังไม่ขาดอายุความ (ฎีกาที่ 1035/2540)

มาตรา 176 จำเลยรับสารภาพศาลไม่สืบ
(1) จำเลยรับสารภาพ - ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานก็ได้เว้นแต่คดีอัตราโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปหรือ
สถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจ
(2) คำรับสารภาพต่อไปนี้ ใช้ลงโทษจำเลยไม่ได้
- รับสารภาพเพื่อมิให้ยุ่งยากแก่คดี (ฎีกาที่ 1318/2523)
-รับสารภาพโดยเข้าใจผิด (ฎีกาที่ 1077/2529)
- รับสารภาพโดยไม่รู้ว่าเป็นความผิด (ฎีกาที่ 5114/2531)
- รับสารภาพที่ขัดกับรายงานชันสูตรบาดแผล (ฎีกาที่ 833/2495)
- รับสารภาพไม่ชัดเจน กรณีลักทรัพย์หรือรับของโจร (ฎีกาที่ 5033/2539)
- รับสารภาพในคดีที่ฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด หรือไม่ถูกต้อง (ฎีกาที่ 283/2530, 473/2486
(3) ความหมายของคำรับสารภาพ
- รับสารภาพตามฟ้อง หมายถึงรับทั้งหมดในคดี (ฎีกาที่ 2460/2530)
- รับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องหรือตามข้อหา หมายถึงรับเฉพาะการกระทำผิด ไม่รับส่วนอื่น (ฎีกาที่ 387/2525)
(4) ความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จำเลยรับสารภาพ โจทก์ไม่สืบพยานศาลลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสามไม่ได้ แต่ศาลลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคแรกได้ (มิใช่ยกฟ้อง) (น่าสนใจมาก) (ฎีกาที่ 591/2536)
(5) การรับฟังพยานหลักฐาน
1) แม้จำเลยรับสารภาพ แต่ถ้าศาลเห็นว่ารับฟังพยานโจทก์ไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องได้ (ระวัง) (ฎีกาที่ 371/2533)
- พยานหลักฐานประกอบ จะต้องไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน(น่าสนใจมาก) (ฎีกาที่ 7562/2537)
2) กรณีพิเศษเกี่ยวกับอันตรายสาหัส
2.1) ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องเสียก่อนครบ 20 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ ดังนี้ต้องฟังข้อ
เท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก่อน ศาลจะงดสืบพยานโจทก์และลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 295 ไม่ได้ (ฎีกาที่ 564/2493)
2.2) ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่ารักษาบาดแผล 10 วันหาย โจทก์ไม่สืบลงโทษจำเลย ตาม 
ป.อ.มาตรา 295 (ฎีกาที่ 418/2509)
2.3) โจทก์ยื่นฟ้องภายหลังวันเกิดเหตุเพียง 13 วัน เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลลงโทษโดยไม่สืบพยานได้ (ฎีกาที่ 2243/2526) 
2.4) โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อเกิดเหตุแล้ว 16 วัน โจทก์ไม่สืบและกลับได้ความว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ผู้เสียหายมาศาลได้ ศาลลงเพียง ป.อ.มาตรา 295 (ฎีกาที่ 517/2499)

3) การฟ้องใหม่ตามมาตรา 176 วรรคสอง
1) โจทก์ต้องฟ้องตามข้อหาเดิม จะฟ้องข้อหาอื่นไม่ได้ (ฎีกาที่ 831/2502)

2) การฟ้องคดีใหม่ต้องระบุพยานใหม่ (ฎีกาที่ 2389/2522)


การอ้างพยานหลักฐาน(มาตรา 226)

มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นและให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน

สรุปหลักสำคัญ
พยานที่เบิกความโดยไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณ ก็รับฟังไม่ได้ (ฎีกาที่ 824/2492)

คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่ให้การฐานะพยาน ไม่ใช่ฐานะผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 เป็นพยานที่มิชอบ จะนำมายันจำเลยในชั้นพิจารณาไม่ได้ (ฎีกาที่ 1106/2506)

ข้อสังเกต คำให้การของจำเลยในฐานะพยานไม่ใช่ฐานะผู้ต้องหาเป็นพยานที่มิชอบตามมาตรา 226 จึงจะนำไปรับฟังประกอบพยานอื่นไม่ได้ ต่างกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา แม้จะมีน้ำหนักน้อยก็รับฟังประกอบพยานอื่นได้คำแถลงของผู้เสียหายไม่ใช่คำพยาน ศาลจะสั่งลดสืบพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยยกฟ้องไม่ได้ฎีกาที่ 2484/2520 ศาลสอบถามผู้เสียหาย คำแถลงของผู้เสียหายไม่ใช่คำพยานศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องไม่ได้ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลได้เรียก นางสาว ส. ผู้เสียหายมาสอบถาม นางสาว ส. แถลงว่าตนเองเต็มใจไปกับจำเลยเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากัน มิได้ถูกฉุดคร่าแต่อย่างใด ต่อมาได้จดทะเบียนสมรส ขณะนี้มีบุตรจำเลย 1 คน โจทก์แถลงขอสืบพยานต่อไป ศาลชั้นต้นเห็นว่าการสืบพยานโจทก์ต่อไป ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นและคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าคดีฟังได้ว่านางสาว ส. ยินยอมไปกับจำเลยเพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยสมัครใจ จึงขาดองค์ประกอบความผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยให้การปฏิเสธเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยนำพยานเข้าสืบ เสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ต่อไป ดังนี้ คำแถลงของผู้เสียหายไม่ใช่คำพยานที่ได้นำสืบและโจทก์หาได้ยอมรับไม่เพราะโจทก์ยังติดใจสืบพยานอยู่ ศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องคดี
ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า พยานของพนักงานอัยการจะต้องได้รับการสอบสวนมาก่อนถึงเป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนมิได้สอบพยานบางคนไว้ก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธินำมาสืบได้และศาลก็รับฟ้องได้ (ฎีกาที่ 2107/2514)

พยานเอกสาร ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารที่ได้มีการสอบสวนมาแล้วศาลรับฟังได้ (ฎีกาที่ 1548/2535) 

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์อ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่ง โดยไม่นำมาเบิกความด้วย รับฟังว่าคดีมีมูลไม่ได้(ฎีกาที่ 604/2492)

การไต่สวนมูลฟ้อง เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบให้เห็นว่าฟ้องของโจทก์มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา ในกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งคดีแพ่งและอาญา แม้มูลกรณีในคดีทั้งสองนั้นจะเกี่ยวเนื่องกัน ในการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาหากโจทก์อ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่ง โดยไม่นำพยานมาเบิกความในคดีอาญา ย่อมถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ฟังได้ว่าคดีมีมูลคดีผู้เสียหายและอัยการต่างฟ้องและรวมพิจารณากัน ต้องฟังพยานหลักฐานรวมกัน (ฎีกาที่ 133-134/2491)

แต่ถ้าศาลมิได้สั่งรวมพิจารณา ต้องฟังพยานหลักฐานแยกกัน แม้พยานโจทก์จะเป็นชุดเดียวกันก็ตาม (ฎีกาที่ 1679/2526)

ในกรณีพยานที่เบิกความในสำนวนหนึ่ง ก่อนที่ศาลจะสั่งให้รวมการพิจารณากับอีกสำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังที่ศาลสั่งรวมสำนวนแล้ว พยานปากดังกล่าวมิได้มาเบิกความอีกดังนี้ จะนำเอาคำเบิกความของพยานปากนี้มาฟังเป็นโทษจำเลยในคดีหลังนี้ไม่ได้ (ฎีกาที่ 840/2536) 

พยานโจทก์เข้าเบิกความในคดีอีกสำนวนหนึ่ง ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษากับคดีนี้ โดยที่โจทก์ไม่สามารถนำตัวพยานปากนี้มาเบิกความอีกได้จนศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานปากนี้ การเบิกความของพยานปากนี้จึงมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยในคดีนี้ ไม่อาจรับฟังเพื่อวินิจฉัยคดีในทางเป็นโทษสำหรับจำเลยในคดีนี้ได้แม้ภายหลังศาลจะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม ศาลรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมได้ฎีกาที่ 186/2514 ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมในคดีแล้ว แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเสีย ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมที่ได้กระทำระหว่างที่เป็นคู่ความในคดีเสียเปล่าไป พยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมได้อ้างอิงไว้ ศาลย่อมให้เป็นหลักฐานสำหรับโจทก์และโจทก์ร่วมคนอื่น เพื่อประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีได้คู่ความจะตกลงให้ศาลชี้ขาดตามคำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอื่นโดยไม่ติดในสืบพยานอื่นอีก ดังนี้ เท่ากับไม่ได้พิจารณาต่อหน้าจำเลยตามมาตรา 172 จะนำเอาคำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาลงโทษจำเลยไม่ได้ ต้องยกฟ้อง (ฎีกาที่ 986/2518)

แต่คำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ถือว่าเป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่ง จึงอาจอ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ ไม่ผิดต่อกฎหมาย (ฎีกาที่ 2644/2535)

ในกรณีจำเลยกับพวกถูกฟ้องเป็นคดีหนึ่ง เมื่อสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวไปแล้ว ศาลสั่งให้แยกฟ้องจำเลยซึ่งให้การปฏิเสธ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ ดังนี้ คำเบิกความของพยานโจทก์ในคดีเดิม เป็นการพิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยในคดีนี้แล้วรับฟังได้ (ฎีกาที่ 1457/2531)

ในคดีอาญาสามารถนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารได้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 94 (ฎีกาที่ 3224/2531)

จำเลยคดีอาญามีสิทธินำพยานเข้าสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้โดยไม่ต้องซักค้านพยานโจทก์ไว้ก่อน แต่จะรับฟังได้หรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล และไม่มีกฎหมายห้ามรับฟังข้อนำสืบต่อสู้คดีของจำเลยอื่น (ฎีกาที่ 185/2539)

การพิพากษาคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาคดีอื่น (ฎีกาที่ 4751/2539)

ฎีกาที่ 1030/2533 การพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น ดังนั้น เมื่อ ว. ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร่วมกับจำเลยถูกฟ้องในคดีอื่น และศาลพิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีประจักษ์พยานจึงไม่ผูกพันศาลว่าจะต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีฎีกาอีกว่าการพิพากษาคดีอาญา ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีแพ่ง (ฎีกาที่ 1446/2526)


การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา 227)

มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

สรุปหลักสำคัญ
คำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยมีน้ำหนักน้อย เพราะพยานอาจซัดทอดจำเลยเพื่อปกปิดการกระทำของตน เมื่อไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก (ถ้ามีก็สืบประกอบได้) ก็จะฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่ 6015/2531)

- แม้ผู้ซัดทอดจะไม่ได้ถูกฟ้องด้วยก็ตาม (ฎีกาที่ 758/2487)

- คำเบิกความของผู้ร่วมกระทำผิด แต่ถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งถือเป็นคำซัดทอดระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน (ฎีกาที่ 1885/2523)


ข้อสังเกต คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันนี้ แม้จะมีน้ำหนักน้อย มิใช่ว่ารับฟังไม่ได้เสียเลยทีเดียว ถ้าเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผล ก็ใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นลงโทษจำเลยได้ (ฎีกาที่ 6965/2540)

ฎีกาที่ 3154/2533 แม้จะปรากฏว่า ส. เคยถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดคดีเดียวกันนี้กับจำเลยมาก่อน คำเบิกความและคำให้การของ ส. จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันก็ตาม แต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย คำเบิกความและคำให้การของ ส. จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะรับฟังไม่ได้เสียเลย เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย และจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเท่านั้น
คำให้การซัดทอดที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทันที ศาลนำมาฟังประกอบลงโทษจำเลยได้ (ฎีกาที่ 937/2536)

คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานเป็นเพียงพยานบอกเล่า หากไม่ได้ตัวมาสืบในชั้นศาล ลำพังแต่คำให้การในชั้นสอบสวนรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่771/2536)

จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนแต่ปฏิเสธในชั้นศาล
กรณีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธดังนี้ จะนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยมาลงโทษไม่ได้ ต้องมีพยานอื่นมาประกอบ (ฎีกาที่ 9413/2539)

โจทก์มีพยานหลักฐานอื่นประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยก็รับฟังลงโทษจำเลยได้ (ฎีกาที่ 6643/2539)

แต่พยานประกอบนั้น จะต้องไม่ใช้พยานที่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวน ดังนั้น ถ้าพยานประกอบคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน มีเพียงบันทึกชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่าย และคำของเจ้าพนักงานผู้จับกุมและสอบจำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นการเพียงพอลงโทษจำเลยได้ (ฎีกาที่ 853/2541) (ขัดกับฎีกาที่ 623/2538) (ขัดกับฎีกาที่ 623/2538)

ข้อสังเกต ในกรณีพยานโจทก์มีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านโจทก์ว่ากระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยต้องเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ (ฎีกาที่ 540/2504)

* แต่ถ้าโจทก์มีพยานหลักฐานประกอบฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยสมัครในและตามความสัตย์จริง และมีพยานแวดล้อมประกอบอีก ดังนี้ฟังลงโทษจำเลยได้ (ฎีกาที่ 4930/2538)

การสืบพยานประกอบคำรับสารภาพตามมาตรา 176

มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฏหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพเมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

สรุปหลักสำคัญ
พยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 จะต้องไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพ การรับฟังคำรับชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยปฏิเสธในชั้นพิจารณามาใช้ลงโทษจำเลย โจทก์ต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยกระทำผิดจริง โดยพยานประกอบนั้นต้องมิใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวนคำรับนั้น ส่วนบันทึกการจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบ คำรับสารภาพ และภาพถ่ายประกอบการนำชี้ที่เกิดเหตุ แม้จะมีภาพจำเลยและมีข้อความระบุว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เพื่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด (ฎีกาที่ 7562/2537)

ในกรณีที่พยานโจทก์เบิกความตามข้อซักถามของโจทก์ ไปโดยจำเลยยังไม่ได้ถามค้านมีการเลื่อนคดีต่อมา แต่ภายหลังพยานปากนี้ไม่มาศาลจนศาลสั่งตัดพยานปากดังกล่าว ศาลก็รับฟังคำเบิกความพยานนี้ประกอบพยานอื่นได้ (ฎีกาที่ 1189/2523)

แต่คำเบิกความของพยานโจทก์ ซึ่งเบิกความโดยจำเลยไม่มีโอกาสถามค้านเพียงอย่างเดียวไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ แต่อาจรับฟังประกอบพยานอื่น ๆของโจทก์ได้ (ฎีกาที่ 1383/2531)

คำบอกเล่าที่ขัดต่อผลประโยชน์ของตนเอง รับฟังได้ (ฎีกาที่ 266/2486,1819/2532)

คำบอกกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย
คำบอกกล่าวของผู้ตายซึ่งถูกทำร้ายก่อนตาย กล่าวถึงคนร้ายที่ทำร้ายตน รับฟังได้แต่จะต้องได้ความว่าผู้ตายได้กล่าวในขณะที่รู้ตัวว่าตนจะต้องตาย (ฎีกาที่ 4113/2539)

ข้อสังเกต จากหลังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า คำของผู้ตายที่ระบุชื่อคนร้ายที่ทำร้านตนในขณะที่รู้ว่าตนจะถึงแก่ความตายนั้น รับฟังลงโทษจำเลยได้ แต่ในบางกรณีมีพฤติการณ์ที่ผู้ตายอาจจำผิดพลาดหรืออุปทานไป เช่น เห็นคนร้ายในที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ คำของผู้ตายโดยลำพังไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้

ฎีกาที่ 762/2514 พยานโจทก์ในที่เกิดเหตุ ไม่มีใครเห็นจำเลยว่าเป็นคนร้าย มีแต่คำของผู้ตายที่บอกหลังจากถูกยิงว่าจำเลยเป็นคนยิง คำของผู้ตายที่ระบุชื่อคนร้ายที่ทำร้ายตนในขณะที่รู้ว่าตนเองจะถึงแก่ความตายนั้น รับฟังได้ว่าผู้ตายได้ระบุชื่อคนร้ายเช่นนั้นจริงแต่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องรับฟังว่าผู้ที่ถูกระบุชื่อได้ทำร้ายผู้ตายจริงเสมอไป เพราะผู้ตายอาจเห็นจำผิดพลาดหรือมีอุปทานไปก็ได้ เฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้ผู้ตายเห็นคนร้ายในที่มีแสงสว่างจากดวงจันทร์เท่านั้น ความผิดพลาดอาจมีขึ้นได้ การระบุชื่อคนร้ายของผู้ตายเป็นพยานหลักฐานอื่นไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย คำของผู้ตายที่ระบุชื่อจำเลยโดยลำพังจึงไม่มีน้ำหนักให้ฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้คำบอกเล่าของผู้ตายเพียงปากเดียว แม้จะพูดในขณะรู้ตัวว่าจะตาย ถ้าไม่มีพยานอื่นประกอบให้น่าเชื่อ ก็รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่ 2081/2531)







อำนาจศาลในการสืบพยานเพิ่มเติม(มาตรา 228)

มาตรา 228 ระหว่างพิจารณาโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม จะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้

สรุปหลักสำคัญ
ในระหว่างการพิจารณา ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม โดยศาลเห็นควรเองหรือคู่ความร้องขอมาตรา 228 นี้นำไปใช้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย ตามมาตรา 171 (ฎีกาที่ 1621/2506, 1872/2527)

เดินเผชิญสืบพยานและส่งประเด็น(มาตรา 230)

มาตรา 230 เมื่อจำเป็นศาลมีอำนาจไปเองหรือให้จ่าศาลไปเดินเผชิญสืบพยานหรือส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยาน ให้ผู้เดินเผชิญสืบและศาลที่รับประเด็นมีอำนาจและหน้าที่ดังศาลเดิม และศาลที่รับประเด็นมีอำนาจส่งประเด็นไปยังศาลอื่นอีกต่อหนึ่งได้

เมื่อคู่ความแถลงต่อศาลขอไปฟังการพิจารณา ก็ให้ศาลสั่งหรือจัดการให้เป็นไปตามคำขอนั้นถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา จะยื่นคำถามคำซักเป็นหนังสือก็ได้ ให้ศาลหรือผู้เดินเผชิญสืบสืบพยานตามนั้น
ให้ส่งสำนวนหรือสำเนาฟ้อง สำเนาคำให้การ และเอกสารหรือของกลาง เท่าที่จำเป็นให้แก่ผู้เดินเผชิญสืบ หรือแก่ศาลรับประเด็นเพื่อสืบพยาน เมื่อคู่ความที่ขอให้สืบพยานไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา ก็ให้ยื่นคำถามพยานเป็นหนังสือ เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ให้ผู้เดินเผชิญสืบหรือศาลที่รับประเด็นส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมทั้งเอกสารหรือของกลางไปยังศาลเดิม


สรุปหลักสำคัญ
ศาลอาจมอบให้จ่าศาลไปเดินเผชิญสืบพยานได้ (ต่างกับคดีแพ่งที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจจ่าศาลไปเดินเผชิญสืบพยาน)

แต่ถ้าจำเลยแถลงว่าจะไม่ตามประเด็นไป ศาลที่รับประเด็นสั่งเลื่อนวันนัดสืบพยานไปได้ โดยไม่ต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ (ฎีกาที่ 1066/2526)

การที่ศาลจะไปเดินเผชิญสืบหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล (ฎีกาที่ 3091/2533)

พยานบุคคลห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน (มาตรา 232)

มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

สรุปหลักสำคัญ
พยานที่เคยเป็นจำเลยร่วม ซึ่งได้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ ย่อมไม่ต้องห้ามตามมาตรา 232 (หรือจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว โจทก์ก็อ้างเป็นพยานด้วย)

ข้อสังเกต แม้โจทก์จะอ้างเป็นพยานได้ไม่ขัดกับมาตรา 232 ก็ตาม คำพยานดังกล่าวก็มีน้ำหนักน้อย ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันการที่ศาลเอาคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยมาประกอบการวินิจฉัยถือไม่ได้ว่าเป็นการอ้างจำเลยเป็นพยาน (ฎีกาที่ 35/2532, 623/2535)

ศาลอาจนำคำเบิกความของพยานจำเลยมาประกอบดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีได้หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานไม่

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน (มาตรา 233)
มาตรา 233 จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ศาลจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจำเลยก็ได้ ถ้าคำจำเลยซึ่งให้การเป็นพยานนั้นปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่นนั้นซักค้านได้

สิทธิของพยานที่จะไม่ตอบคำถาม (มาตรา 234)
มาตรา 234 พยานไม่ต้องตอบคำถามซึ่งโดยตรงหรืออ้อมอาจจะทำให้เขาถูกฟ้องคดีอาญา เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้ศาลเตือนพยาน

ศาลมีอำนาจถามพยาน(มาตรา 235)
มาตรา 235 ในระหว่างพิจารณา เมื่อเห็นสมควร ศาลมีอำนาจถามโจทก์จำเลยหรือพยานคนใดได้
ห้ามมิให้ถามจำเลยเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่อง เว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน

ศาลมีอำนาจสั่งพยานออกจากห้องพิจารณา(มาตรา 236)
มาตรา 236 ในระหว่างพิจารณาศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จำเลยออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ อนึ่งเมื่อพยานเบิกความแล้วจะให้รออยู่ในห้องพิจารณาก่อนก็ได้

การอ่านคำพยาน (มาตรา 237)
มาตรา 237 คำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณานั้น ให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา 165 วรรค 3

การสืบพยานก่อนฟ้องคดี (มาตรา 237 ทวิ)
มาตรา 237 ทวิ ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้าพนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันที
ก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ ผู้ต้องหาจะซักค้าน หรือตั้งทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้ ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา 173 ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทนคำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหาถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้ในกรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า ผู้ต้องหานั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องทราบในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลมให้นำบทบัญญัติในมาตรา 172 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
กรณีพนักงานอัยการขอสืบพยาน (มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่)กรณีที่ผู้ต้องหาขอสืบพยาน (มาตรา 237 วิ วรรคห้าและหก)

พยานเอกสาร(มาตรา 238 – 240)
มาตรา 238 ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้ ถ้าอ้างหนังสือราชการเป็นพยาน แม้ต้นฉบับยังมีอยู่จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้ เว้นแต่ในหมายเรียกจะบ่งไว้เป็นอย่างอื่นมาตรา 239 เอกสารใดซึ่งคู่ความอ้าง แต่มิได้อยู่ในความยึดถือของเขา ถ้าคู่ความนั้นแจ้งถึงลักษณะและที่อยู่ของเอกสารต่อศาล ให้ศาลหมายเรียกบุคคลผู้ยึดถือนำเอกสารนั้นมาส่งศาล

มาตรา 240 เมื่อมีเอกสารใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลให้อ่านหรือส่งให้คู่ความตรวจดู ถ้าคู่ความฝ่ายใดต้องการสำเนาศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่อ้างนั้นส่งสำเนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามที่เห็นสมควร

สรุปหลักสำคัญ
แม้โพยสลากกินรวบเป็นภาพถ่ายจากเครื่องถ่ายเอกสารไม่ใช่ต้นฉบับ แต่ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกความจำเกี่ยวกับการเล่นการพนันสลากกันรวบ แม้จะรับฟังเป็นพยานเอกสารไม่ได้ แต่ก็ฟังได้ว่าเป็นพยานวัตถุเกี่ยวแก่การเล่นพนัน (ฎีกาที่ 2572/2540)

พยานเอกสารที่นำมาอ้างในชั้นร้องขอคืนของกลางซึ่งศาลสั่งริบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาคดีอาญา เอกสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์นั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น หาได้ห้ามมิให้รับฟังในคดีอาญาด้วยไม่และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 240 มิได้บังคับให้คู่ความที่อ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานต้องส่งสำเนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ถ้าคู่ความฝ่ายใดต้องการสำเนาศาลจึงจะมีอำนาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อ้างนั้นส่งสำเนาแก่อีก (ฎีกาที่ 621/2524)

การส่งสำเนาเอกสารในคดีอาญา มีมาตรา 240 ป.วิ.อ. บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 90 ที่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้ามาใช้แก่การพิจารณาคดีอาญาไม่ได้ ดังนั้น ในคดีอาญาจึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้าแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ในคดีอาญาคู่ความนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารได้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ฎีกาที่ 3224/2531)


พยานวัตถุ (มาตรา 241 –242)

มาตรา 241 สิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุต้องนำมาศาลในกรณีที่นำมาไม่ได้ ให้ศาลไปตรวจจดรายงานยังที่ที่พยานวัตถุนั้นอยู่ตามเวลาและวิธีซึ่งศาลเห็นสมควรตามลักษณะแห่งพยานวัตถุ

มาตรา 242 ในระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาสิ่งของซึ่งเป็นพยานวัตถุต้องให้คู่ความหรือพยานตรวจดู
ถ้ามีการแก้ห่อหรือทำลายตรา การห่อหรือตีตราใหม่ให้ทำต่อหน้าคู่ความหรือพยานที่เกี่ยวข้องนั้น


สรุปหลักสำคัญ
ฎีกาที่ 2572/2540 แม้โพยสลากกินรวบเป็นภาพถ่ายจากเครื่องถ่ายเอกสารไม่ใช่ต้นฉบับ แต่ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกความจำเกี่ยวกับการเล่นการพนันสลากกินรวบแม้จะรับฟังเป็นพยานเอกสารไม่ได้ แต่ก็ฟังได้ว่าเป็นพยานวัตถุเกี่ยวแก่การเล่นพนัน

ผู้ชำนาญการพิเศษ (มาตรา 243)
มาตรา 243 ผู้ใดโดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม มีความชำนาญพิเศษในการใด ๆ เช่นในทางวิทยาศาสตร์ ศิลป ฝีมือ พาณิชยการ การแพทย์หรือกฎหมายต่างประเทศ และซึ่งความเห็นของเขานั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่าตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตรวจลายมือทำการทดลองหรือกิจการอย่างอื่น ๆ ศาลจะให้ผู้ชำนาญการพิเศษทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้มาเบิกความประกอบหนังสือนั้น ให้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวแล้วแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเบิกความ

สรุปหลักสำคัญ
ผู้ชำนาญการพิเศษในคดีอาญานี้ ต้องมาเบิกความประกอบความเห็นที่เป็นหนังสือด้วย (ต่างกับคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 130 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจแสดงความเห็นเป็นหนังสือโดยไม่ต้องมาเบิกความประกอบ)แต่ในคดีอาญานี้ หากจำเลยแถลงรับ ความเห็นเป็นหนังสือของผู้ชำนาญการพิเศษแล้ว ก็รับฟังเป็นพยานได้ โดยไม่ต้องมาเบิกความประกอบ (ฎีกาที่ 76/2529)

ในกรณีที่ศาลจะให้ผู้ชำนาญการพิเศษทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ โดยต้องมาเบิกความประกอบนั้น ต้องส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนเบิกความ (มาตรา 243 วรรคสอง)
ที่ต้องส่งสำเนาหนังสือความเห็นนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ผู้ชำนาญการพิเศษทำความเห็นเป็นหนังสือด้วย ถ้าความเห็นดังกล่าวศาลไม่ได้สั่งให้ทำ ก็ไม่ต้องส่งสำเนา (ฎีกาที่ 444/2510, 588/2499, 1588/2494)

ในกรณีที่คู่ความไม่ได้ส่งในฐานะที่เป็นความเห็นของผู้ชำนาญการพิเศษ ก็ไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารฎีกาที่ 744/2521 โจทก์ส่งบันทึกภาษาจีนพร้อมด้วยคำแปลต่อศาลในวันที่สืบผู้แปลเพื่อยืนยันคำแปล ไม่ใช่ส่งในฐานะที่เป็นพยานผู้ชำนาญการพิเศษแสดงความเห็น ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 243 ที่ต้องส่งสำเนาเอกสารก่อนการสั่งให้ผู้ชำนาญการพิเศษทำความเห็นเป็นหนังสือหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล (ฎีกาที่ 4377/2536)

%%%%%%%%% ยังไม่สมบูรณ์ %%%%%%%%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

slide