วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาญา มาตรา ๑๕๘ - ๑๖๖

อาญา มาตร ๑๕๘ - ๑๖๖

มาตรา 158 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่ง ทรัพย์หรือเอกสาร” ใด อันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 381/2505 จำเลยเป็นตำรวจกองบังคับการตำรวจรถไฟ มีหน้าที่อารักขาพนักงานรถไฟ สืบสวนคดี และถ่ายรูปประกอบคดีในเขตการรถไฟ แต่กองบังคับการไม่มีปืนพก
และกล้องถ่ายรูปใช้ จึงให้จำเลยเบิกจากกองกำกับการตำรวจรถไฟ เพื่อใช้ในราชการ เจ้าหน้าที่ได้มอบปืนพก 1 กระบอกและกล้องถ่ายรูปให้แก่จำเลยไป เพื่อใช้ในราชการ ต่อมาจำเลยได้ลาราชการ แล้วหลบหนีราชการไป จำเลยได้เบียดบังเอาปืนและกล้องถ่ายรูปนั้นไว้เป็นของตนโดยทุจริต ดังนี้ จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 147 จึงไม่ผิดตามมาตราดังกล่าว แต่ผิดตามมาตรา 158
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1845/2517 จำเลยเป็นเสมียนศาล มีหน้าที่เก็บรักษาสำนวนความ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตั้งให้จำเลยเป็นกรรมการปลดเผาสำนวนร่วมกับผู้อื่น ในระหว่างการปลดเผาสำนวน จำเลยเอาแสตมป์ฤชากรที่ฉีกออกจากสำนวนที่จะต้องปลดเผาไปเสีย เป็นความผิดตาม มาตรา 158 โจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าจำเลยนำแสตมป์เก่าที่ใช้แล้วนั้น ไปใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังยักยอกแสตมป์เหล่านั้น เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 147, 157 ด้วย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2518 พลตำรวจรับมอบปืนและเครื่องกระสุนไปปฏิบัติราชการ มีหน้าที่รักษาสิ่งเหล่านั้น ถ้าเอาไปจำนำถือได้ว่าแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต เป็นความผิดตาม มาตรา 147 และไม่ผิดตามมาตรา 158 อีก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2175/2529 จำเลยเป็นตำรวจ มิได้นำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้ ส่งมอบเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบ จนพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบ และแนะนำให้จำเลยนำเงินดังกล่าวส่งคลัง จึงปฏิบัติตาม ถือได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ.ม.147,157,158 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ม.147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของ ม.157 แล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม ม.157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4259/2531 การกระทำความผิดตาม มาตรา 158 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และทรัพย์หรือเอกสารใดซึ่งเป็นของทางการราชการหรือของรัฐนั้น อยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นที่จะปกครอง หรือรักษาไว้ถูกทำให้เสียหายทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง และนับว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หากโจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจะได้รับความเสียหาย จากการระทำของจำเลยก็เป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง
มาตรา 159 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ดูแล รักษาทรัพย์หรือเอกสารใด กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่ง ตราหรือเครื่องหมาย อันเจ้าพนักงานได้ประทับหมายไว้ที่ทรัพย์หรือเอกสารนั้น ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึดหรือรักษาสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 160 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่รักษาหรือใช้ดวงตรา หรือรอยตราของราชการ หรือของผู้อื่น กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดย ใช้” ดวงตราหรือรอยตรานั้น หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 592/2519 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดประทับตราประจำตัวของจำเลย และประทับตราค่าภาคหลวงอันเป็นตราของทางราชการ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่รักษาและใช้ตามอำนาจหน้าที่ที่ไม้ของกลาง 7 ท่อน เป็นไม้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดและฝ่าฝืนระเบียบของกรมป่าไม้โดยมิได้ประทับตราประจำตัวพร้อมเลขเรียงลำดับท่อนภาคหลวงของไม้ท่อนที่ตัดทอนจากตอนนั้นและเลขปี พ.ที่ประทับตราไว้ที่หน้าตัดของตอไม้ทุกตอ ทำให้กรมชลประทานและกรมป่าไม้เสียหายนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 160 และการที่จำเลยประทับตราฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวของกรมป่าไม้ที่วางไว้เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้อื่นแล้วนำมาสวมรอยอ้างว่าเป็นไม้ที่เจ้าพนักงานได้ตรวจคัดเลือกอนุญาตให้ตัด นั้น เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลเสียหายของการกระทำนั้นได้ และก็ได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จะอ้างว่ากระทำไป โดยสุจริตหรือกระทำไปด้วยความสำคัญผิดหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยมี เจตนากระทำความผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1736/2523 จำเลยรับราชการเป็นพนักงานจ้าง ตำแหน่งพนักงานบำรุงป่าได้รับมอบหมายให้ใช้ และรักษาดวงตราก้อนเหล็กประทับไม้ ต.3986 ของกรมป่าไม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต้องแต่งตั้ง โดยอาศัยอำนาจตาม ม.75 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 จำเลยจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.4 (16) ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว จำเลยได้รับมอบหมายให้ช่วยป่าไม้อำเภอตรวจสอบไม้ผ่านด่าน ออกใบเบิกทางจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ.ม.160
- คำพิพากษาฎีกาที่ 101/2524 ตามระเบียบการตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลากไม้ และตามคำสั่งของป่าไม้เขต ที่ให้จำเลยออกไปตรวจวัด ประทับตราอนุญาตชักลากไม้ จำเลยจะต้องทำบัญชีอนุญาตชักลากไม้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยทำบัญชีอนุญาตชักลากไม้ เป็นเท็จก็เพื่อให้การประทับตราอนุญาตชักลากไม้ไม่ถูกต้องตามระเบียบเสร็จสิ้นไปโดยบริบูรณ์ การทำบัญชีอนุญาตชักลากไม้เป็นเท็จกับการประทับตราอนุญาตชักลากไม้ไม่ถูกต้อง ตามระเบียบจึงเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ขั้นตอนที่จะต้องกระทำ จำเลยต้องประทับตราอนุญาตชักลากไม้ก่อนแล้วจึงทำบัญชีอนุญาตชักลากไม้ ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยเป็นสองกรรมต่างกันไม่ / ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา160, 162 แต่ละกรรมเป็นความผิดตามมาตรา 157 ด้วย ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักทั้งสองกระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ข้อหาทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ จำเลยฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยตามมาตรา 160, 162 เป็นความผิดกรรมเดียวกัน พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 160, 162 และ 157 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 10 ปี ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลย หนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลย กระทงเดียว 10 ปี เป็นการพิพากษา เพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3865/2542 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ท้องที่เกิดเหตุโดยหน้าที่ราชการจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาคำขอและตรวจสอบที่ดินของผู้ยื่นคำขอเสียก่อน สภาพที่ดินเป็นทุ่งนาไม่มีต้นไม้ ส่วนตอไม้ที่พบนั้นอยู่ในที่ดินที่มีหลักฐานเป็นใบจอง เจ้าของที่ดินก็ไม่เคยยื่นคำขอนำไม้ ถ้าจำเลยตรวจสอบ และเรียกเจ้าของที่ดินที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ยื่นคำขอนำไม้ มาสอบถามก็จะทราบความจริงว่าคำขอนั้นเป็นเท็จและจำเลยก็ไม่เคยสอบถามคณะกรรมการ การตรวจสอบไม้ว่า ผู้ยื่นคำขอมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยแท้จริงหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้ / ทางราชการกรมป่าไม้ กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ได้ตราระเบียบ แบบแผนในการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้แล้วนำมาสวมรอย อ้างว่าเป็นไม้ที่เจ้าพนักงานได้ตรวจและอนุญาตให้ตัด การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้กระทำหรือยอมให้น้องชายจำเลยนำดวงตราประทับไม้ประจำตัวจำเลยไปกระทำการตีรอยตราดังกล่าว เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลเสียหายของการกระทำนั้นได้ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จำเลยจะอ้างว่ากระทำไปโดยสุจริตหรือกระทำไป โดยความสำคัญผิดหาได้ไม่

มาตรา 161 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการ ปลอมเอกสาร” โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1742-3/2542 (ผิดได้ทั้ง 161 – 162 แอม อ รชฏ / ไม่พบในสารบัณคำพิพากษาฎีกา โดยเนติบัณฑิตยสภา และสารบัณคำพิพากษาฎีกา โดยสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ)
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ม 157 / ม 264-266 / ม 268
- คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2506 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ทำเอกสารขึ้นฉบับหนึ่งด้วยความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นเอกสารอีกฉบับหนึ่ง อันเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ (แม้จะลงลายมือชื่อของตนเอง ไม่ได้ปลอมชื่อของใครอื่น) ก็อาจมีมูลความผิดตาม มาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำเลยอนุญาตและออกใบอนุญาตให้โจทก์แล้วจำเลยเรียกใบอนุญาตคืนจากโจทก์ แล้วออกใบอนุญาตใหม่เป็นว่า จำเลยไม่อนุญาตให้ก่อสร้างผิดฐานปลอมเอกสารทั้งฉบับ (เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความ เมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นหมดอำนาจในการแก้ไขแล้ว)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 753/2510 จำเลยที่ 1 เป็นพัสดีเรือนจำ จำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมชั้น 2 จำเลยที่ 2คุมนักโทษไปทำงานนอกเรือนจำแล้วนักโทษเกิดหลบหนีไป จำเลยที่ 2 รายงานให้จำเลยที่ 1ทราบ จำเลยที่ 1 ให้ปกปิดไว้ก่อน เพื่อติดตามตัวเมื่อติดตามไม่ได้ จำเลยทั้งสองมิได้จัดการอย่างไร คงปกปิดไว้มิได้รายงานต่อผู้บัญชาการเรือนจำตามระเบียบ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงถือว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.. 2502 มาตรา 13 / ครั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกัน ลงชื่อนักโทษที่หลบหนีนั้นในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาลดโทษคณะกรรมการฯ หลงเชื่อว่า นักโทษผู้นั้นยังมีตัวอยู่ในเรือนจำจึงลงมติลดโทษให้ 1 ใน 5 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) / เมื่อถึงเวลาครบกำหนดที่นักโทษผู้นั้นจะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำ ดังนี้ (1)สลักหลังหมายจำคุกของนักโทษผู้นั้น รับรองว่าได้ตรวจสอบถูกต้องแล้ว เสนอปล่อยตัวในวันที่ 1เมษายน 2507 โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์ จำเลยที่ 1 เป็นคนลงนาม (2) ร่วมกันปลอมเอกสารใบสุทธิของนักโทษผู้นั้น โดยจำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนเองแทนนักโทษและจำเลยที่ 1ลงนาม ตรวจรับรอง (3) จำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนแทนนักโทษ ในช่องเมื่อพ้นโทษ ในทะเบียนรายตัวผู้ต้องคุมขังของนักโทษผู้นั้น (4) จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหนังสือของผู้บัญชาการเรือนจำถึงนายอำเภอสามเงาว่านักโทษผู้นั้นพ้นโทษจะกลับไปอยู่อำเภอสามเงา ภูมิลำเนาเดิม แล้วเสนอหนังสือนั้นให้ผู้บัญชาการลงนามโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์ จำเลยที่ 1เป็นคนตรวจรับรอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 264, 265 อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด กระทงเดียว โดยจำคุกคนละ 2 ปี
- คำพิพากษาฎีกาที่ 35/2521 ตำรวจได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เสมียนเปรียบเทียบและได้ทำงานในหน้าที่นั้น แม้ไม่ได้เซ็นการรับทราบคำสั่งก็ถือว่าได้ทราบการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่แล้ว การแก้หรือลงจำนวนเงินในสำเนาใบเสร็จให้น้อยลงกว่าต้นฉบับ แล้วส่งเงินต่ำกว่าจำนวนที่ได้รับจริง เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกตาม ม.147 และฐานปลอมเอกสารในหน้าที่ของตนตาม ม.161, 266 ต่างกระทงแต่ละรายที่ได้กระทำ ไม่ใช่ ม.162 ซึ่งเป็นการทำเอกสารเท็จ / การกระทำก่อนใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ลงโทษตามกระทงที่หนัก ที่กระทำหลังจากนั้น ต้องลงโทษทุกกรรมในกระทงความผิดตาม ม.161 ,266 ลงโทษตาม ม.266 ซึ่งเป็นบทหนัก / จำเลยฎีกาว่า ระเบียบของกรมตำรวจให้นายตำรวจผู้ปกครองสถานีตำรวจรับผิดชอบ ในเงินค่าเปรียบเทียบปรับ ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเสมียนเปรียบเทียบ ข้อนี้จำเลยไม่ได้อ้างในศาลชั้นต้น จำเลยปฏิเสธว่าไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินค่าปรับ จึงไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3224/2524 จำเลยเบิกเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนามาจากคลังจังหวัด โดยทำฎีกาเท็จ แล้วปลอมใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ดังนี้ถ้าหากมีผู้รับเงินไปจริง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รับเงินจะต้องทำใบเสร็จรับเงินมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินไว้เป็นหลักฐาน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร คือใบเสร็จรับเงิน และถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาใบเสร็จรับเงินดังกล่าว อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.161 / ป.ว.อ.ม.43 กำหนดให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์คืน แทนผู้เสียหายในฟ้องคดีอาญา คำขอดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องคดีอาญา การแก้ฟ้องหรือเพิ่มเติมฟ้องในคดีอาญาจึงเป็นไปตาม ป.ว.อ.ม.163, 164 โดยขอแก้ฟ้องได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์บรรยายฟ้องแล้ว ว่าจำเลยยักยอกเงินไปเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งจำเลยก็ทราบดีแล้ว เพียงแต่โจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นว่า ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนที่ยักยอกไปแก่เจ้าทรัพย์ หาทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2907/2526 จำเลยเป็นปลัดเทศบาล และเป็นเลขานุการสภาเทศบาล แต่ไม่อยู่ ประธานสภาฯ จึงแต่งตั้งให้ ส. ทำหน้าที่เลขานุการสภาแทน จำเลยใช้ให้ พ. แก้ไขสาระสำคัญของมติของสภาในรายงานการประชุมที่ ส.ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ จึงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารตาม ป.อ.ม.265 ประกอบด้วย ม.84 จำเลยกระทำผิดในขณะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารนั้น จึงมีความผิดตาม ม.161 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารนั้นไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ม. 268 อีกกระทงหนึ่ง / จำเลยในฐานะเลขานุการสภาเทศบาล เป็นผู้มีหน้าที่ทำรายงานการประชุมสภาเทศบาล ทำรายงานการประชุมขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตน และลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำ จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้นแม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ม.161 แต่เป็นการทำเอกสารเท็จตาม ม.162 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษตาม ม.162 จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ / ตาม ม.157 คำว่า "เพื่อ" ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ การที่จำเลยแก้ไขมติของสภาเทศบาลในรายงานการประชุม โดยไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หากเป็นการกระทำไปเพราะความเข้าใจผิดพลาด เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ม.157
- คำพิพากษาฎีกาที่ 332/2527 จำเลยเป็นพนักงานพิสูจน์ มีหน้าที่ในการพิสูจน์การครอบครองที่ดิน แล้วกรอกข้อความในแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิ และพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารดังกล่าวจึงอยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลย ก่อนส่งไปยังศูนย์หรือผู้ควบคุมสาย เมื่อเอกสารนี้ถูกปลอมลายมือชื่อของ จ.ผู้มีหน้าที่ปกครองท้องที่และระวังแนวเขต โดยจำเลยมีโอกาสกระทำเองหรือร่วมกับจำเลยอื่นกระทำขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตาม ป.อ. ม.161 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม.58 บัญญัติให้นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งให้ผู้ซึ่งได้รับการอบรม เป็นเจ้าหน้าที่ออกไปพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์แทนตนในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานจำเลยเป็นผู้ได้รับคำสั่งจากนายอำเภอให้เป็นพนักงานพิสูจน์ จึงเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ.
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2316/2529 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร ทำคำสั่งจังหวัดเรื่องแต่งตั้งข้าราชการ โดยไม่มีอำนาจ แล้วตัดเอากระดาษไขที่มีลายมือชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งลงนามไว้ในคำสั่งฉบับอื่น มาติดไว้ท้ายคำสั่งที่จำเลยทำขึ้น และจำเลยโรเนียวคำสั่งนี้ออกมา เพื่อแสดงให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่แท้จริง เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับมีความผิดตาม ป.อ. ม.161 และ 265
- คำพิพากษาฎีกาที่ 217/2531 จำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับการจ้างกรรมการควบคุม และดำเนินการจ้างซ่อมทำนบดิน ตามโครงการสร้างงานในชนบท จำเลยได้ประชุมราษฎรในหมู่บ้าน ตกลงลดค่าจ้างขุดดินซ่อมทำนบดังกล่าวให้น้อยลงกว่าที่มีการอนุมัติ เพื่อให้ได้จำนวนดินมากขึ้นให้ทำนบมีความแข็งแรงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อมาราษฎรได้รับจ้างขุดดินตามที่ได้มีการตกลงกัน จำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารหนังสือขอเบิกเงิน งบใบสำคัญ หนังสือรายงานผลการดำเนินการจ้างแรงงาน ใบตรวจรับจ้างแรงงานระบุรายละเอียดค่าแรงงานจำนวนดิน ค่าคุมงานต่าง ๆ ให้ตรงกับที่ได้รับอนุมัติและเป็นหลักฐานว่าได้ดำเนินการแล้ว เพื่อขอเบิกเงินจากทางราชการมาจ่ายให้แก่ราษฎรผู้รับจ้างดังนี้ เมื่อปรากฏว่ายอดเงินที่ระบุในเอกสารทั้งสี่ฉบับ ตรงกับยอดเงินที่จำเลยได้จ่ายให้แก่ราษฎรไปแล้ว จำนวนดินที่ไม่ตรงกันนั้นก็ขุดได้มากกว่าที่ระบุไว้ ไม่ปรากฏว่าจำนวนคนใดทุจริตได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว แม้จำนวนดินและจำนวนเงินที่ระบุในเอกสารจะไม่ตรงกับความจริงไปบ้าง ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 161
- (ขส อ 2529/ 2) เสมียนฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ "รับเงินแล้วส่งสมุห์ออกใบเสร็จ แอบปลอมใบเสร็จ แล้วรับเช็คค่าภาษีไว้เอง ผิด ม 265+268 ฎ 889/2492 ไม่ผิด ม 161 เพราะไม่มีหน้าที่ออกใบเสร็จ มีหน้าที่รับเงิน เอาเงินผิด ม 147 / เอาเช็คไปรับเงิน ผิด ม 188 ฎ 200/2528

มาตรา 162 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารกระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริง อันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 409-410/2509 มาตรา 157 ตอนแรกกับมาตรา 162 ไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องเป็นการกระทำโดยทุจริต เมื่อฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานออกใบสุทธิ โดยจดเปลี่ยนแปลงข้อความไม่ตรงต่อความจริง และผิดระเบียบเพื่อให้พลทหารเอก พลทหารเบ็ญ นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น ก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่ราชการทหาร ในตัวครบองค์ความผิดตามมาตรา 157 ตอนแรกและมาตรา 162 (3)เป็นความผิดตามบทกฎหมายสองมาตราดังกล่าวและให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก / สำหรับจำเลยที่ 2 (เป็นครูน้อย โจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว) ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 เพียงผู้สนับสนุน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 788/2517 จำเลยทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจ แม้ระบุว่าทำที่บ้านซึ่งจับกุมโจทก์ก็ตาม แต่ข้อความอื่นตรงกับความจริง เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกรอกข้อความเท็จลงในเอกสาร อันเป็นความผิดตาม มาตรา 162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1116-1118/2517 จำเลยทั้ง 4 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับรถยนต์ได้ลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุว่า กรรมการได้ตรวจรับรถยนต์แล้ว เห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วนทั้งราคาก็เป็นไปตามราคาในท้องตลาด และได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้องแล้ว ซึ่งความจริงยังไม่ได้ตรวจรับและส่งมอบแต่อย่างใด การที่จำเลยลงชื่อรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวจึงเป็นการรับรองเท็จ และเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 152/2518 พนักงานเทศบาลและเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 44 นายกเทศมนตรีมีคำสั่งตั้งให้ควบคุมงานจ้างเหมาได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งให้ตรวจและรับรองผลงานรับเหมาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยได้ จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ผู้รับเหมาได้ประโยชน์ผิดจากสัญญาและทำใบตรวจงานเท็จ เป็นความผิดตามมาตรา 157, 162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1501/2518 พลตำรวจมีหน้าที่จดคำให้การผู้ขอหนังสือเดินทางตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แม้สั่งด้วยวาจาก็เป็นหน้าที่ราชการ ถ้าจดคำให้การเป็นเท็จ โดยที่ผู้นั้นมิได้มาให้การ เป็นความผิดตามมาตรา 162 (1), (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1758/2523 แม้จำเลยที่ 1จะได้กล่าวเท็จในหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ว่าตนเป็นผู้สั่งการให้จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่มีการขอรับสินบนนำจับนั้น แต่เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อความดังกล่าวต่ออธิบดีกรมศุลกากร การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการกระทำในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2302/2523 คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า "ศาล" หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายการที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน / จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนัน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออก และมีหน้าที่ กรอกข้อความลงในมรณบัตร ตามอำนาจหน้าที่ โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ.ม.161 แต่เป็นความผิดตาม ม.162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3003 ถึง 3005/2525 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยป่าไม้อำเภอไม่ได้ตรวจสอบไม้หลักฐานการชำระเงินค่าภาคหลวง และบัญชีจำหน่ายไม้ตามคำสั่งของป่าไม้อำเภอ แต่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือกำกับไม้แปรรูปในช่องผู้ตรวจสอบและทำความเห็นเสนอนายอำเภอว่าได้ตรวจสอบไม้แล้วถูกต้อง เป็นเหตุให้ป่าไม้อำเภอในฐานะผู้ทำการแทนนายอำเภอออกใบเบิกทางนำไม้ หรือของป่าเคลื่อนที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. ม.157 และฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นอันเป็นความเท็จตาม ม.162 (1) / จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้เขียนกรอกเอง เป็นแต่เพียงปฏิบัติผิดระเบียบของกรมป่าไม้ ซึ่งมีการอนุโลมให้ทำได้ มิใช่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การเขียนกรอกข้อความตามช่องในแบบฟอร์ม มิใช่เป็นการจดข้อความซึ่งมีหน้าที่ต้องรับจด การไม่เขียนกรอกข้อความเอง จึงไม่เป็นการละเว้นไม่จดข้อความซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องรับจด อันจะเป็นความผิดตาม ม.162 (3)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 473/2526 จำเลยเป็นตำรวจประจำที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองมีหน้าที่เขียนประจำวัน มิได้มีหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือเดินทางของคนต่างด้าวเข้าเมืองแต่อย่างใด แม้จำเลยจะจดข้อความเกี่ยวกับการที่คนต่างด้าวถูกจับ และผลคำพิพากษาในหนังสือเดินทาง ก็กระทำเป็นส่วนตัวของจำเลยเองโดยไม่มีหน้าที่ จึงไม่ใช่กระทำการในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4900/2528 การอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ เพียงแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ยกให้แสดงเจตนาให้ปรากฏโดยตรง หรือโดยปริยายว่าได้อุทิศให้เป็นที่สาธารณะที่ดินนั้นก็ตกเป็นที่สาธารณะทันที / ป. เจ้าของเดิมได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณะไปแล้ว ก่อนจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 นายอำเภอท้องที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กำนันจำเลยที่ 2 อดีตกำนัน ทำเอกสารบันทึกถ้อยคำให้ ป. ลงลายมือชื่อ แสดงว่า ป. ยกที่ดินของตนให้เป็นที่สาธารณะ แม้เป็นการทำบันทึกภายหลัง เมื่อที่ดินแปลงนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้รับโอนแล้วก็ตาม การกระทำนั้นก็เพื่อยืนยันความจริงที่ ป.ได้อุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะแก่ทางราชการ ไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่ง จึงหาเป็นความเท็จไม่ ทั้งไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะที่ดินส่วนนั้นได้ตกเป็นที่สาธารณะไปแล้ว ก่อนโจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมา จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.157, 162
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3572/2529 นายอำเภอแต่งตั้งป่าไม้อำเภอและที่ดินอำเภอ เป็นกรรมการตรวจสอบการนำไม้ชนิดอื่นนอกจากไม้สักและ ไม้ยางที่ทำ ออกจากไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์เคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์ เมื่อบันทึกการตรวจสอบไม้เป็นเท็จ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.162, 83 คดีอาญาเรื่องที่หนึ่ง โจทก์ฟ้องในการกระทำที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อบุคคลลงในเอกสารแล้วใช้เอกสารนั้น เรื่องที่สอง โจทก์ฟ้องในการกระทำที่จำเลยที่ 1 เอาตราตีประทับลงบนท่อนไม้ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในการกระทำที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันทำบันทึกการตรวจสอบไม้ชนิดอื่นนอกจากไม้สัก และไม้ยางในที่ดินกรรมสิทธิ์และทำบัญชีไม้แนบท้ายบันทึกเป็นเท็จ ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมกันกับในคดีทั้งสอง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1074/2532 จำเลยได้รับคำสั่งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานด้านธุรการ ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์ และงานบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยกระทำมิชอบเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนราษฎร์ และงานบัตรประจำตัวประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 148, 157 และ 162 จำเลยจึงไม่อาจกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้ (หากไม่มีหน้าที่ ผิด ปลอมเอกสารราชการได้ ม 265)
- มาตรา 162 (1)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5581/2530 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลรู้ว่า ห.ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1มาแจ้งขอย้ายชื่อ ห.จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 จำเลยที่ 3 ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 เป็นเท็จ จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบลในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการลงชื่อรับรองหลักฐานเป็นเท็จจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของ ห.ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังรับแจ้งในฐานะนายทะเบียนตำบลเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตาม มาตรา 162 (1) ,157
- คำพิพากษาฎีกาที่ 70-71/2542 ป่าไม้เขตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ เลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทไม้แก่จัด มีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมากและอยู่ในวัยเสื่อมหรือยอดไม่สมบูรณ์ และให้ตีราคาคัดเลือกอนุญาตให้ตัดไม้ฟันไม้เพื่อบำรุงป่า หรือ บร. กับทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอผู้บังคับบัญชา แล้วป่าไม้เขตจะได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ไปทำการตรวจวัดตีตรารัฐบาลขาย หรือ รข. เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึง 15 จะต้องตีตราเฉพาะไม้ที่มีตรา บร. เท่านั้น และจะต้องตรวจดูว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะตีตรา รข. ไม่ได้ และจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กลับตีตราไม้ที่ดี มีค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการขัดคำสั่ง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำบัญชีสำรวจคัดเลือกตีตราไม้เสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการตามที่ระบุในเอกสารขึ้นอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1)/ จำเลยที่ 16 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อจำเลยที่ 17 เป็นกรรมการ ได้ทำสัญญาตัดฟันไม้และซื้อไม้เหล่านั้นจากกรมป่าไม้ โดยจำเลยที่ 16 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการตัดฟันไม้แทน และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ได้ตีตราไม้ที่ยังไม่ตีตรา บร. แสดงว่าเป็นไม้ที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐตาม ป.อ. มาตรา 157 และการที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ทำเอกสารได้ทำบัญชีรับรองเป็นหลักฐาน ว่าตนได้ตีตรา รข. บนไม้ที่มีการคัดเลือกแล้วทุกต้น อันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) ด้วย / ขณะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร. คัดเลือกไม้ที่จะทำการโค่น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ประมูลโค่นต้นไม้ และซื้อไม้ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ตัดโค่นไม้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราไว้ตามสัญญาจ้างตัดโค่นและขายไม้ที่ทำไว้ จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 อย่างไรก็ดีปรากฏว่าไม้ที่ตัดโค่นบางส่วน ไม่มีตราของราชการใด ๆ เลยจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ
- มาตรา 162 (2)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6185/2531 (ถอดรหัส อาญา 105 / ไม่พบในฐานข้อมูลศาลฎีกาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ผิด ม 162 (2) และ (4)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4392-4393/2531 จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.3 มีหน้าที่ออกไปตรวจสอบว่ามีไม้ขึ้นอยู่ในที่ดินแปลงที่ขออนุญาตทำไม้หรือไม่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกไปตรวจสอบ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกการตรวจสอบไม้ว่า เห็นสมควรให้ทำไม้ยางออกจากที่ดิน น.ส.3 ได้ เป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ออกไปตรวจสอบไม้ดังกล่าว อันเป็นความเท็จ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องกันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ โดยมีเจตนา เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
- มาตรา 162 (3)
- (เน 51/4/40) ตำรวจมีหน้าที่ต้องรับแจ้งข้อความ ในเรื่องความผิด หากไม่รับแจ้งผิด ม 162 (3) ได้
- มาตรา 162 (4)
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ม 276
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 162

มาตรา 163 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ในการไปรษณีย์โทรเลข หรือโทรศัพท์ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เปิด หรือยอมให้ผู้อื่นเปิด จดหมาย หรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือโทรเลข
(2) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้สูญหาย ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(3) กัก ส่งให้ผิดทาง หรือส่งให้แก่บุคคลซึ่งรู้ว่ามิใช่เป็นผู้ควรรับ ซึ่งจดหมาย หรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือโทรเลข หรือ
(4) เปิดเผยข้อความที่ส่งทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข หรือทางโทรศัพท์
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 164 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3194/2536 จำเลยที่ 2 - 3 มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำข้อสอบซึ่งเป็นความลับของทางราชการ ไปเปิดเผยให้ บกับพวกรู้ ก่อนเข้าสอบ ผิด ม 157 + 164 และจำเลยที่ ที่ ซึ่งร่วมกระทำผิด แต่มิได้เป็นกรรมการสอบ ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 - 3
มาตรา 165 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 203 ป้องกัน ขัดขวาง ไม่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1655/2520 จำเลยเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนแขวง จดลงในทะเบียนบ้าน และลงลายมือชื่อรับรองว่า ต.ย้ายมาเข้าบ้านนั้นจากต่างจังหวัดอันเป็นเท็จ เป็นความผิดตาม ม.157, 161, 162, 265 ลงโทษตาม ม.161 ซึ่งเป็นบทหนักในเวลานั้น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2633/2523 เมื่อตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล เทศบาลไม่มีหน้าที่จะต้องรับถนนที่มีผู้ยกให้ และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจสั่งให้เทศบาลรับถนนที่มีผู้ยกให้ดังกล่าว ดังนั้นแม้จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งให้เทศบาลรับถนนที่โจทก์กับบุคคลอื่นสละที่ดินและเงินส่วนตัวสร้างแล้วยกให้ก็ตาม จำเลยไม่ผิด ป.อ.ม.165
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 165
- (ขส เน 2538/4) พลตำรวจได้รับคำสั่งให้จับกุมผู้ทำผิด แจ้งผู้ทำผิดให้หนีไปก่อนถึงเวลาจับกุม /เมื่อตำรวจอื่นจะเข้าจับ พลตำรวจเข้าไปกั้นเพื่อให้ล่าช้า จนผู้ทำผิดหนีไปได้ พลตำรวจ มีอำนาจสืบสวนและมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่ง การแจ้งให้หลบหนี และเข้าขัดขวางการจับกุม เป็นการกระทำโดยมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลไม่ให้ต้องโทษ ถือเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และเป็นการป้องกัน หรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผิด ม 138+157+165+200การแจ้งให้หลบหนี เป็นการช่วยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ผิด ม 189 ด้วย
มาตรา 166 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใด ๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำการเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดนั้นได้กระทำลง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาล หรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 166
- (ขส เน 2517/ 8) ตำรวจ คน ไม่พอใจผู้บังคับบัญชา ทิ้งงานจราจร ปล่อยให้การจราจรติดขัด /ตำรวจอีก คน ไม่พอใจผู้บังคับบัญชาเช่นกัน เมื่อรับคำสั่งให้คุมตัวผู้ต้องหาไปศาล ก็พากันละทิ้งงาน และพูดชักชวนประชาชนให้ย้ายผู้บังคับบัญชาคนดังกล่าว ตำรวจทั้งห้าคน เป็นเจ้าพนักงานละทิ้งงาน เพื่อให้งานหยุดชะงัก แต่ไม่ได้ร่วมกระทำการด้วยกันทั้งห้าคน จึงไม่ผิด ม166 / แต่ละคน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ผิด ม157

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

slide