มาตรา ๗๓ - ๗๙
มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 เด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้น แล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
(2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดามารดาหรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้น ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งพันบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่น นอกจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดามารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลผู้นั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
(3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม(2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติ หรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมประพฤติเด็กนั้น
(4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่ และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือ
(5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าในขณะใดภายในรยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคล หรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแลอบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้
มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่าสิบสี่ปี แต่ยังไม่เกินสิบเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1498-2518/2518 จำเลยอายุ 17 ปี ศาลลงโทษตามมาตรา 339 ต้องลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 คงจำคุก 6 ปี
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1239/2527 จำเลยอายุ 17 ปีเศษ เป็นทหารพราน ย่อมตระหนักถึงความร้ายแรงของลูกระเบิดมือแบบสังหาร ซึ่งมีอานุภาพการทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในรัศมีเป็นวงกว้าง แม้กระทั้งสุจริตชนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคืองแค้นของจำเลยด้วยเลย จำเลยทะเลาะกับพวกรำวง ต่อมาจำเลยขว้างลูกระเบิดใส่กลางเวทีรำวง มีคนตายและบาดเจ็บ จึงมิใช่เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญา หรือความอ่อนวัยของจำเลย เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดผิดวิสัย ศาลไม่ลดมาตราส่วนโทษให้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 76/2530 การที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งมีอายุ 17 ปีโดยไม่ลดมาตรา ส่วนโทษให้นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ มาตรา 75 บัญญัติไว้ว่าถ้าศาล เห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่ กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
- การเปรียบเทียบเด็กที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษ
- ข้อมูลจากเวปไซด์ มีชัย ฤชุพันธุ์ / เหตุซึ่งหน้าและการเปรียบเทียบปรับ เรียน อาจารย์มีชัยที่เคารพ ผมขอเรียนถามอาจารย์ 3 ข้อดังนี้ ข้อ 1. โพยหวยใต้ดินของงวดที่ออกไปแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบถือเป็นการพบเหตุซึ่งหน้าที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาได้หรือไม่ ข้อ 2. การให้ผู้ถูกจับสามารถชำระค่าปรับทางไปรษณีย์ได้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก จะขัดแย้งกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การเปรียบเทียบปรับ หรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.การเปรียบเทียบปรับ และระเบียบการเปรียบเทียบปรับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการสอบสวนผู้ต้องหาโดยพนักงานสอบสวนก่อน และต้องให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อในบันทึกการเปรียบเทียบและใบเสร็จรับเงิน แต่ที่เห็นปฏิบัติกันอยู่เสมียนเปรียบเทียบปรับต้องเซ็นชื่อผู้ต้องหาในบันทึกเปรียบเทียบปรับและในใบเสร็จรับเงินเอง พร้อมทั้งกรอกข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ต้องหาเองด้วย ข้อ 3. ผู้ต้องหาที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ตาม ป.อาญา ม.391 หากผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้เลยหรือไม่ ในการแจ้งข้อหา (ที่เปรียบเทียบปรับได้) และการซักถามคำให้การต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 133 ทวิ,134 ทวิ, 134 ตรี ด้วยหรือไม่ ขอขอบพระคุณอย่างสูง / คำตอบ เรียน พนักงานสอบสวน 1. ความผิดซึ่งหน้าได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ หลักจึงอยู่ที่ว่าได้เห็นการกระทำนั้นหรือได้เห็นอาการซึ่งแทบไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำ การที่ไปค้นตัวเขาแล้วจึงไปพบพยานหลักฐานว่าเขาได้เคยกระทำผิดมานั้น จึงไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า 2 เมื่อเป็นบทบัญญัติของ "พระราชบัญญัติ" จึงเป็นข้อยกเว้น และอยู่เหนือกว่าระเบียบของกรมตำรวจ 3. การเปรียบเทียบปรับนั้น หมายถึงการยอมรับว่าได้กระทำความผิด ซึ่งบุคคลอายุยังไม่ถึง 18 ปี กฎหมายให้ความคุ้มครอง อันเป็นความคุ้มครองเด็ดขาด ไม่เกี่ยวกับความยินยอมพร้อมใจของใคร จึงต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ทวิ และ ๑๓๔ ตรี มีชัย ฤชุพันธุ์ 16 พ.ย. 2547
มาตรา 76 ผู้ใดอายุกว่าสิบเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1312/2513 การลดมาตราส่วนโทษตาม มาตรา 76 นั้น ต้องลดจากโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ไม่ใช่ลดจากโทษที่วางแก่จำเลย ส่วนมาตรา 54 นั้น เป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษ หาใช่การลดมาตราส่วนโทษไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2514 การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน จะรวมลดไปด้วยกันไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6387/2540 การลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 76 คือการลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่จำเลยกระทำ โดยลดลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่ง แล้วจึงกำหนดโทษที่จะลงในระหว่างนั้น มิใช่ให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อน แล้วจึงลดจากโทษที่ได้กำหนดไว้ จึงต่างกับ ป.อ. มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดแล้ว และการลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 76 มิใช่เป็นบทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หรือบทกำหนดโทษ แม้ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทที่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 ว่าเป็นมาตรา 76 ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186(7)
มาตรา 77 ในกรณีที่ศาลวางข้อกำหนดให้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตามความในมาตรา 74 (2) ถ้าเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นภายในเวลาในข้อกำหนด ศาลมีอำนาจบังคับบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ให้ชำระเงินไม่เกินจำนวนในข้อกำหนดนั้น ภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ไม่ชำระเงิน ศาลจะสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ เพื่อใช้เงินที่จะต้องชำระก็ได้
ในกรณีที่ศาลได้บังคับให้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ชำระเงินตามข้อกำหนดแล้วนั้น ถ้าศาลมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งที่ได้วางข้อกำหนดนั้นเป็นอย่างอื่นตามความในมาตรา 74 วรรคท้าย ก็ให้ข้อกำหนดนั้นคงใช้บังคับได้ต่อไป จนสิ้นเวลาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนั้น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2515 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 77 มิใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ในกรณีที่เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นแล้ว ศาลจักต้องบังคับบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ให้ชำระเงินตามข้อกำหนดเสมอไป แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้ชำระเงินน้อยกว่าที่ได้กำหนดไว้ หรือถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรก็อาจไม่บังคับให้ชำระเงินเลยก็ได้ / จำเลยอายุไม่เกิน 14 ปี กระทำความผิด ศาลได้สั่งให้มอบตัวแก่บิดาจำเลยรับไปดูแล หากจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นภายใน 3 ปี ให้บิดาจำเลยชำระเงินต่อศาลครั้งละ 500 บาท ต่อมาจำเลยกระทำความผิดอีกศาลจึงสั่งให้ปรับบิดาจำเลยตามข้อกำหนดดังกล่าว แล้วจำเลยได้กระทำความผิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเวลากระชั้นชิดกัน สุดความสามารถที่บิดาจำเลยจะควบคุมดูแลได้ ทั้งปรากฏว่าบิดาจำเลยเป็นคนยากจนด้วย ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่บังคับบิดาจำเลยชำระเงินตามข้อกำหนด สำหรับการก่อเหตุร้ายครั้งหลังได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1506/2519 บิดาทำทัณฑ์บนไว้ต่อศาล บุตรมาทำผิดขึ้นอีก ศาลที่จะปรับตามทัณฑ์บน คือศาลในคดีเดิม ไม่ใช่ศาลที่พิพากษาคดีที่บุตรทำผิดขึ้นอีก ทำร้ายโดยต่อยคางขวาบวม ไม่เขียว ไม่ช้ำ รักษาหายใน 3 วันเป็นบาดแผลเล็กน้อย ไม่ถึงอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ม.339 วรรค 4
มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่า “มีเหตุบรรเทาโทษ” ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1337/2517 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทำหน้าที่รักษาความสงบอยู่ในงานวัด ได้เข้าไปจับกุม น.เพราะมีคนมาแจ้งว่า น. มีอาวุธปืนและกำลังจะก่อเหตุร้ายในวงรำวง น.สลัดหลุด จนจำเลยล้มลง พอจำเลยลุกขึ้นได้ ก็ใช้ปืนยิงไปทาง น. ซึ่งกำลังวิ่งหนี โดย น.มิได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยก่อน กระสุนปืนที่จำเลยพลาดไปถูก ส. ซึ่งอยู่ใกล้วงรำวง ถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้วิธี ที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งการจับ หรือเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่า ส. โดยเจตนาตาม มาตรา 288 ประกอบด้วย มาตรา 60 แต่การกระทำของจำเลยนับได้ว่าเป็น การกระทำผิดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมคนร้าย โดยจำเลยมิได้มีสาเหตุส่วนตัวกับ น. หรือผู้ตาย ความผิดของจำเลยเห็นได้ว่า เกิดจากการใช้วิธีการที่เกินสมควรแก่พฤติการณ์แห่งการจับกุม น. ด้วยการตัดสินใจผิดในขณะที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เข้าลักษณะในเหตุอื่น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษประการหนึ่งตาม มาตรา 78
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1665/2520 ฉุดหญิงไป บิดาจำเลยพาจำเลยและผู้เสียหายมาคืนแก่บิดาหญิง พร้อมกับเงินเป็นการขอขมา และอยู่กินด้วยกันไม่ทำให้การกระทำกลับไม่เป็นความผิด เป็นแต่เหตุให้บรรเทาโทษได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2033/2528 การที่ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะแล้วนั้น ศาลยังลดโทษให้จำเลยในกรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษในประการอื่นได้อีก / จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า ได้ใช้อาวุธปืนยิงและตีผู้ตายจนถึงแก่ความตายจริง โดยมิได้อ้างเหตุในเรื่องป้องกันตัวขึ้นต่อสู้ ในชั้นพิจารณาจำเลยก็เบิกความรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับด้วยว่าได้ลงชื่อไว้ในคำให้การจริง ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้ยกเอาคำให้การดังกล่าว ขึ้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีด้วย ดังนี้ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน และคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณา เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ
- มาตรา 78 ประเด็นเปรียบเทียบ เกี่ยวกับการวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 138/2547 การที่จำเลยให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องขอวางเงินจำนวน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลชั้นต้นแจ้งให้ผู้เสียหายมารับไปอันเป็นการบรรเทาความเสียหายบางส่วน แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อจะชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปโดยไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลเพื่อให้ผู้เสียหายรับไป แม้ต่อมาจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย โดยอ้างเหตุที่ได้วางเงินชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย และไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่วางศาล และไม่วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาผลร้าย หรือความเสียหายด้วยการวางเงินชำระค่าเสียหายบางส่วน ให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อใช้ดุลพินิจรอหรือไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย และเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว โดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้
- มาตรา 78 ประเด็นเปรียบเทียบ เกี่ยวกับคำรับสารภาพของผู้ต้องหา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1509/2515 ใช้มีดยาวทั้งตัวและด้ามประมาณ 1 ฟุต แทงผู้ตายมีบาดแผลผิวหนังฉีกขาดขนาด 2x0.5 เซนติเมตร ทะลุผ่านเนื้อกล้ามเข้าช่องซี่โครงที่ 11 ข้างซ้ายด้านหลัง เข้าช่องอกเฉี่ยวกระบังลมข้างซ้ายฉีกขาดทะลุเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดตกในมาก แม้จะแทงเพียงทีเดียว แต่ก็แทงถูกอวัยวะที่สำคัญมากและแทงโดยแรง จนผู้ตายล้มลงขาดใจตายอยู่ตรงนั้น และปรากฏว่าสถานที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสว่าง ผู้แทงมีโอกาสที่จะเลือกแทงได้ เพราะผู้ตายไม่รู้ตัว และถูกเตะเซมาหาผู้แทง ดังนี้ ฟังได้ว่ามีเจตนาฆ่า ไม่ใช่มีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย / ชั้นสอบสวน จำเลยรับว่าได้เตะทำร้ายพวกผู้เสียหายตามข้อ กล่าวหา แต่ในชั้นศาล จำเลยกลับให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น และยังอ้างตนเองนำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้เตะใครในคืนเกิดเหตุ และไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ก็มิได้นำเอาคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนขึ้นมาฟังประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจึงไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตาม ป.อาญา มาตรา 78
- คำพิพากษาฎีกาที่ 479/2520 แม้จะรับสารภาพโดยจำนนพยาน ไม่เป็นประโยชน์การพิจารณา แต่จำเลยยอมให้ตำรวจจับโดยดี และนำมีดของกลางมามอบแก่ตำรวจ ถือเป็นการลุแก่โทษ ลดโทษตาม ป.อ. ม.78 ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521 จำเลยให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่คดีอยู่บ้าง และเคยช่วยเหลือราชการ จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ศาลลดโทษตาม ม.78
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1209/2521 จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริงเป็นการลุแก่โทษ ให้การรับสารภาพเมื่อถูกจับชั้นสอบสวน และชั้นศาลเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลลดโทษตาม ม.78 ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 617/2526 แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย และฆ่าโดยวิธีกดให้จมน้ำตาย เพื่อปกปิดความผิดของจำเลย โดยไม่จำเป็นต้องนำคำรับสารภาพของจำเลยมาประกอบการพิจารณา จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน นำเจ้าพนักงานไปชี้ที่เกิดเหตุ แสดงท่าทางให้ถ่ายภาพไว้ จึงหาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี อันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษไม่ เพราะจำเลยให้การรับสารภาพโดยจำนนต่อพยานหลักฐาน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1896/2526 คำรับสารภาพของจำเลยอันจะถือเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ.ม.78 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงจะพิจารณาลดโทษที่ลงแก่จำเลยได้ เมื่อศาลชั้นต้นได้อาศัยพยานหลักฐานโจทก์ที่มั่นคง ทั้งพยานบุคคลพยานวัตถุ และพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง และพิพากษาลงโทษโดยไม่ได้อาศัยคำรับสารภาพของจำเลยแต่ประการใด จึงไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษ อันจะพึงลดโทษให้แก่จำเลยได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 825/2530 จำเลยกระทำความผิดแล้วหลบหนีไปประมาณปีเศษ จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ คดีมีประจักษ์พยานโจทก์ปากเดียว จำเลยได้รับต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับและต่อพนักงานสอบสวน กับได้ชี้ที่เกิดเหตุและแสดงแผนประทุษกรรม ให้ถ่ายภาพประกอบคดีไว้ ถือว่าคำรับสารภาพของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ควรลดโทษให้จำเลยตาม มาตรา 78
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2457/2530 แม้จำเลยจะขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังได้แถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ จนโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไปดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสารภาพ เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน แต่ถือได้ว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลชอบที่จะลดโทษให้แก่จำเลยได้ / จำเลยขอกุญแจเปิดลิ้นชักโต๊ะจากผู้เสียหาย แล้วหยิบอาวุธปืนออกมาจากลิ้นชักโต๊ะขู่ผู้เสียหายให้มอบเงินให้ ดังนี้ การที่จำเลยลักอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับเอาทรัพย์ผู้เสียหายนั้น จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งหมดมาแต่ต้น จึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว (โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 339, 340 ตรี, 91, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ)
- กรณีไม่ใช่เหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1666/2520 จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานหลังเกิดเหตุ 2 เดือน ต่อสู้คดีปฏิเสธ อ้างฐานที่อยู่ ไม่เป็นการลุแก่โทษตาม ม.78
- กรณีไม่ใช่เหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย แต่เป็นเหตุที่อาจทำให้ดุลพินิจในการกำหนดโทษน้อยลง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6632/2540 จำเลยพาเด็กหญิง ส. เข้าไปในโรงแรมเพื่อกระทำอนาจารหรือร่วมประเวณี แม้จำเลยยังไม่ทันกระทำการดังกล่าวก็ตาม ก็เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคหนึ่งและวรรคสาม อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาใช่เพียงขั้นพยายามไม่ / จำเลยเพียงแต่ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าจำเลยพาเด็กหญิง ส. ไปเพื่อการอนาจาร คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับคำเบิกความของจำเลย ไม่ได้ยอมรับว่าจำเลยพรากเด็กหญิง ส. อายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากความปกครองดูแลของนาง ป. มารดา เพื่อการอนาจารซึ่งเป็นข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนการที่จำเลยมอบเงิน 7,000 บาท ให้แก่ ป.ก็เพื่อเป็นค่าทำขวัญเด็กหญิง ส. ที่ถูกชายอื่นพาไปข่มขืนกระทำชำเรา มิใช่การมอบให้ เพราะเหตุอันเกิดจากการที่จำเลยสำนึกผิดในการกระทำ จึงไม่ใช่เหตุบรรเทาโทษตามความหมายแห่ง ป.อ.มาตรา 78 วรรคสอง
- (คดี กำแพงเพชร 18/06/2546) พี่ชาย ดูแลน้องสาวที่เป็นอัมพาต มาหลายปีแล้ว น้องสาวช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย และมีอารมณ์ร้าย พี่ชายใช้เชือกรัดคอน้องสาวตาย พี่ชายมีความผิดข้อหาฆ่าผู้อื่น แต่ควรได้รับโทษเพียงใด
มาตรา 79 ในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ถ้าผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิด นำค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้น มาชำระก่อนที่ศาลเริ่มต้นสืบพยาน ให้คดีนั้นเป็นอันระงับไป
- ตรงกับ ป.วิ.อาญา มาตรา 37 (1) คดีอาญาเลิกกัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (3)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น