วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาญา มาตรา ๓๒๒ - ๓๓๓

อาญา มาตรา ๓๒๒ - ๓๓๓

หมวด 2                        ความผิดฐานเปิดเผยความลับ
มาตรา 322     ผู้ใดเปิดผนึก หรือเอาจดหมาย โทรเลข หรือเอกสารใด ๆ ซึ่งปิดผนึกของผู้อื่นไปเพื่อล่วงรู้ข้อความก็ดี เพื่อนำข้อความในจดหมาย โทรเลข หรือเอกสารเช่นว่านั้นออกเปิดเผยก็ดี ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 322
-          (ขส พ 2523/ 6) บุรุษไปรษณีย์แอบเปิดจดหมายหญิงที่ตนแอบรัก และนำเงินในจดหมายไป แล้วเผาจดหมาย จากนั้นโทรศัพท์ไปขู่ผู้ส่งให้ส่งเงินให้ตน มิฉะนั้นจะฆ่าหญิง ผู้ส่งกลัวหญิงถูกฆ่าจึงตกลง ต่อมาแจ้งตำรวจแล้ววางแผนนำเงินไปล่อจับ ไปรษณีย์ผิด ม 322 , 334 , 358 , 188 และผิด ม 337 เป็นความผิดสำเร็จ แม้ยังไม่ได้เงิน ฎ 1193/2502

มาตรา 323      ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น โดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชี หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                   ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 324      ผู้ใดโดยเหตุที่ตนมีตำแหน่งหน้าที่ วิชาชีพหรืออาชีพอันเป็นที่ไว้วางใจ ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการค้นพบ หรือการนิมิตในวิทยาศาสตร์ เปิดเผยหรือใช้ความลับนั้น เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 325     ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้


หมวด 3                        ความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 326     ผู้ใด ใส่ความผู้อื่น” ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          การใส่ความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า "ใส่ความ" ตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลย ที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำ เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามธรรมนองคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

-          การใส่ความฯ ต่อบุคคลที่สาม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 580/2505 หนังสือใส่ความผู้อื่นนั้นแม้จะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ก็ถือว่าใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา / เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้ร่วมเป็นองค์คณะตัดสินคดีที่ทำให้จำเลยแพ้ และจำเลยได้กล่าวข้อความซึ่งเป็นการดูหมิ่น โจทก์ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาย่อมเป็นความผิดต่อมาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 894-897/2506 ฟ้องว่า จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาล และสังฆมนตรี แต่ไม่ระบุว่าเป็นใคร เป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ที่หาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายก แม้ไม่ระบุพระนามก็ไม่เคลือบคลุม เพราะในขณะฟ้องนั้นสังฆนายก ก็มีองค์เดียวเท่านั้น ใคร ๆรวมทั้งจำเลยย่อมทราบได้ดี / ความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 นั้นไม่จำต้องระบุว่าบุคคลที่ 3เป็นใคร ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะบุคคลที่ 3 นี้อาจเป็นใครก็ได้

-          ลักษณะการใส่ความผู้อื่น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 83/2501 โฆษณาหมิ่นประมาทตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้พ้นผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2822/2515 มีผู้นำจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย มาส่งให้แก่จำเลย และจำเลยได้อ่านทราบความแล้ว ได้เอาจดหมายนั้นให้บุคคลที่สามอ่าน เป็นการแสดงข้อความในจดหมาย ให้ปรากฏแก่บุคคลที่สาม ถือได้ว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหายด้วยถ้อยคำแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ความผิดตาม ป. อาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2021/2517 จำเลยพูดกับบุคคลที่สาม กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับพวกลักเป็ดของจำเลยไปแกงกิน โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะดำเนินคดีเอาความต่อโจทก์ร่วมกับพวกได้ คำพูดของจำเลยจึงไม่มีมูลความจริง แต่จำเลยกล่าวยืนยันประจานให้บุคคลอื่นหลงเชื่อเป็นความจริงว่า โจทก์ร่วมกับพวกลักเป็ดของจำเลย ย่อมเป็นการใส่ความทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง รังเกียจต่อความประพฤติอันเสื่อมเสียของโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2411/2518 จำเลยร้องเรียนเท็จว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายไปรษณีย์ ในบังคับบัญชาอธิบดีเรียกเอาเงินจากจำเลย เป็นความผิดตาม ม.137 กับ ม.326 ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสารตาม ม.328 ม.137 และ ม.326 กำหนดโทษเท่ากันศาลลงโทษตาม ม.137
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 526/2525 ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์บรรณาธิการที่ต้องรับผิดเป็นตัวการ ต้องเป็นบรรณาธิการ ซึ่งรับผิดของเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการ มีหน้าที่ทางด้านการจัดการและธุรการทั่วไป ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณา / หนังสือพิมพ์ระบุชื่อ และนามสกุลทั้งลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ประพฤติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม การที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหาร ไม่ได้ช่วยดัดสันดาน และนิสัยให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์  เพราะโจทก์มีนิสัยชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์ บ้านเมืองจะไม่รอด ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์จะพึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 975/2531 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปล หรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบด้วยแล้ว แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่อง - หมายอัญประกาศ คือ "ถ้อยคำพูด" ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยบรรยายฟ้อง อันเป็นความเท็จเป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้อง ในตอนหลัง และมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้น พนักงานอัยการมีความประสงค์ จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตาม มาตรา 157 ด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2180/2531 การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่น โดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้น ต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น การที่จำเลยถาม ป. ว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง อันน่าจะทำให้โจทก์เสียงชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าววาจาต่อหน้าโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2390/2532 ป.วิ.อ. มาตรา 134 ให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใด หรือไม่ให้การเลยก็ได้ แต่ถ้าคำให้การนั้น เป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่น บทมาตรานี้ ก็หาได้คุ้มครองการกระทำนั้นไม่

-          การกล่าวถึงบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 785/2496 หมิ่นประมาทเขา ทางหนังสือ แม้ในหนังสือจะมิได้กล่าวเจาะจงถึงผู้เสียหายโดยตรง คือกล่าวว่าเป็นการสุดแสนจะทนดูพวกมหาดไทยเล่นสกปรกต่อไป ฯลฯ นั้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า พวกมหาดไทยนั้น จำเลยหมายถึงผู้เสียหายดังนี้ จำเลยก็ย่อมมีผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหาย การที่จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 283 นั้น จะต้องเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันต้องด้วยลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่งตามมาตรา 283 ถ้าเป็นเรื่องใส่ความโดยปราศจากความจริงแล้ว ไม่เป็นข้อแก้ตัว.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1325/2498 กรณีที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อความที่กล่าวจะต้องมุ่งเจาะจงถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ และโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความถึงบุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาทนั้นด้วย / เมื่อในคำโฆษณามีความหมายเฉพาะนายแพทย์ชายคนหนึ่ง ไม่มีกินความถึงนายแพทย์ทุก ๆ คนของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งโจทก์หาได้นำสืบถึงนายแพทย์คนที่ถูกใส่ความหมิ่นประมาท ก็ย่อมทราบไม่ได้ว่านายแพทย์คนใดเป็นผู้เสียหาย / เมื่อตามคำฟ้องไม่มีช่องทางแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวใส่ความถึงนายแพทย์เฉลิม นายแพทย์เฉลิมจึงมิใช่ผู้เสียหาย อันจะพึงร้องทุกข์ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1628/2500 ลงพิมพ์ข้อความว่ามีข่าวว่ากำนันซึ่งเป็นผู้ต้องหา ให้สินบนปลัดอำเภอ และปลัดอำเภอผู้สอบสวน รับสินบนช่วยเหลือกัน แม้ไม่ระบุชื่อ แต่ผู้อ่านรู้ได้ว่าหมายความถึงใคร ก็เป็นการหมิ่นประมาทเป็นความผิด

-          ประเด็นเกี่ยวกับเจตนา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 91/2503 การที่จำเลยแจ้งความต่อตำรวจว่า โจทก์ได้สมคบกับพวกจำเลยให้ไปยิงจำเลย ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ แม้จำเลยจะไปเล่าให้คนอื่นฟัง จำเลยมิได้มีเจตนาใส่ความโจทก์เพื่อให้เสียชื่อเสียง ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า "ใส่ความ" ตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลย ที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์ เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำ เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามธรรมนองคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

-          นอกเหนือเจตนา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 110/2516 จำเลยส่งจดหมายมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์โดยตรง ณ สำนักงานโจทก์ แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะให้โจทก์เท่านั้นทราบข้อความในจดหมาย มิใช่เจตนาเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แม้เสมียนของโจทก์ทราบข้อความจากจดหมายที่จำเลยส่งไปถึงโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท

-          "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง"
-          & ฝ่ายหนึ่งเข้าทำร้ายร่างกายฝ่ายหนึ่งอย่างเดียว ดึงผม ตบ ตี และมีผู้ถ่ายเป็นวิดีโอคลิปเอาไว้ เวลาประมาณ 30 วินาที(ไม่รู้ใครถ่าย) ต่อมามีผู้เอาคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ ฝ่ายผู้ถูกทำร้ายมาแจ้งความ / ผมเห็นว่า อาจเป็นหมิ่นประมาทได้เหมือนกันครับ แม้จะเป็นภาพที่ถูกทำร้ายฝ่ายเดียว และเป็นเหตุการณ์จริงก็ตาม เช่น การนำภาพของคนมีชู้ กำลังมีเพศสัมพันธ์ หรือแสดงความสัมพันธ์กับชู้ ไปเผยแพร่ต่อผู้อื่น ด้วยความสนุกสนาน แม้จะเป็นเรื่องจริง ก็อาจผิดหมิ่นประมาทได้เหมือนกันครับ "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ในประเด็นนี้ ต้องวินิจฉัยจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคลทั่วไปในสังคม ประเด็นตรงนี้ ก็ต้องเอาภาพมาวิเคราะห์กันดูครับ และอาจมีความเห็นแตกต่างกันไปได้ บางคนอาจมองว่า การถูกทำร้ายฝ่ายเดียว เป็นเรื่องน่าเห็นใจ น่าสงสาร มากกว่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่บางคน หรือบางกรณีอาจมองว่า เป็นการประจานตัวผู้ทำร้าย ในแง่ของการใช้กำลัง รังแกผู้อื่น และประจานผู้ถูกทำร้าย ในแง่ของบุคคลิกอ่อนแอ ไม่สู้คน เห็นต่างกันได้นะครับ ส่วนในนิติวิธี ก็จบตรงที่กระบวนการยุติธรรม ในขั้นของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวน ก็ทำความเห็นได้ อัยการก็ชี้ขาดฟ้อง หรือไม่ฟ้อง และศาลก็วินิจฉัย พิพากษา ตลอดจนอุทธรณ์ฎีกา เพื่อตรวจสอบ review กันเองอีกครั้งหนึ่ง

-          ข้อความอันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1201/2505 จำเลยเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษ จดหมายเลขสลากกินรวบที่ผู้ขาย ก่อนจับได้มีการยื้อแย่งกัน และจับได้บนบ้านโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า "เดียวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก" (โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรสาวโจทก์ที่ 1) ดังนี้ ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2296/2514 จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลอื่นว่า "นายกกินเนื้อของนายเนี้ยววันละ 8 กิโล จึงอนุญาตให้ฆ่า ถ้าไม่กินเนื้อวันละ 8 กิโล เขาก็คงไม่อนุญาต" ซึ่งมีความหมายว่า นายกเทศมนตรีรับสินบนของนายเนี้ยว เป็นข้อความใส่ความนายกเทศมนตรีให้เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความตามกฎหมาย มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
-          คำพิพากษาฎีกาที่คำพิพากษาฎีกาที่ 1052/2516 ฟ้องของโจทก์บรรยายว่า โจทก์กับจำเลยเคย สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลด้วยกัน จำเลยออกแถลงการณ์ว่า ขณะโจทก์เป็นนายกเทศมนตรี โจทก์บริหารงานบกพร่องเป็นการเสียหายแก่เทศบาลมากมาย ซึ่งไม่ขอนำมากล่าวในแถลงการณ์นั้น จนสมาชิกฝ่ายสนับสนุน ไม่อาจอยู่ร่วมได้ต้องลาออกไป และเทศมนตรี 2 คน ก็ต้องลาออกไปด้วยจนเหลือโจทก์คนเดียว ขณะนั้นฐานะการเงินของเทศบาลอยู่ในภาวะทรุดหนักดังนี้ การโฆษณาใส่ความของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง อาจทำลายคะแนนนิยมในการเลือกตั้งคราวต่อไปของโจทก์ได้ จึงเป็นฟ้องที่ศาลพึงรับไว้ทำการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 621/2518 กล่าวว่า หญิงเป็นคนสำเพ็ง คนไม่ดี 5 ผัว 6 ผัว แม้กล่าวด้วยความหึงหวงสามี มิให้คบกับหญิงนั้น เป็นเป็นหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2520 ประธานกรรมการบริษัทจำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หมิ่นประมาทโจทก์ เพราะเหตุส่วนตัว ไม่พอฟังว่าทำในฐานะประธานกรรมการบริษัท บริษัทไม่ต้องรับผิด หนังสือพิมพ์ลงข้อความว่าโจทก์โกง เบี้ยว ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันตน แต่มุ่งใส่ความให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ม.329
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 445/2522 (สบฎ เน 5906) จำเลยด่าผู้เสียหายต่อหน้าบุคคลอื่น ๆ ว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ทองสุขโกงบ้านโกงเมือง" คำว่า ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ เป็นเพียงการดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่คำว่า ไอ้ทองสุขโกงบ้านโกงเมือง มีความหมายว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์สิน หรือยกประโยชน์ของทางราชการ มาเป็นของตนหรือของผู้อื่น โดยทุจริต เป็นการหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2371/2522 จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอ ว่า กระหรี่ที่ดิน” คำว่า "กระหรี่หมายความว่าหญิงนครโสเภณี หรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียด ว่าค้าประเวณีกับใคร ประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้าง ก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว / ผลของการใส่ความผู้อื่นน่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ไม่จำต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน / คำร้องทุกข์ซึ่งผู้เสียหายแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ๆ ยังไม่ได้ลงบันทึกประจำวัน ก็เป็นคำร้องทุกข์แล้ว ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาทได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ได้ทำการสอบสวนปากคำผู้เสียหายและ พยานอีกปากหนึ่ง โดยยังไม่ได้ทำบันทึกการมอบคดีและลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนผู้นั้นก็ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นต่อมาพนักงานสอบสวนคนใหม่มาทำการสอบสวนต่อจึงได้ทำบันทึกการมอบคดีและบันทึกประจำวันขึ้นดังนี้ หาทำให้การสอบสวนที่ได้กระทำไปแล้วนั้นเสียไปไม่ เพราะเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้แล้ว โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1068/2537 คำว่า เบี้ยว มีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึง ไม่ซื่อตรงหรือโกง การแปลหัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ หมายถึงแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง จึงไม่เป็นการแปลความหมายผิดไปจากเจตนารมณ์หรือความหมาย หัวข้อข่าวที่ว่า "แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน" ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวตามฟ้อง เป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง โดยพิเคราะห์จากข้อความเหล่านั้นว่ามีอย่างไร / หัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ซื่อตรงหรือโกงซึ่งไม่ตรงกับความจริง เมื่อจำเลยลงข่าวแสดงความเห็นเสียเอง จึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามในประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  และการลงข่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (4) / ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้นเมื่ออ่านประกอบกันทั้งหมด หมายถึงว่าแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง   คำว่าแอมบาสเดอร์เป็นถ้อยคำที่ละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่าแอมบาสซาเดอร์ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการดำเนินธุรกิจโรงแรมอยู่แล้วในเนื้อข่าวยังได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 3 ว่าเป็นกรรมการซึ่งโจทก์ที่ 3 ก็เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2  และประกอบธุรกิจอยู่ ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมรู้ได้ว่าแอมบาสเดอร์ตามหัวข้อข่าวหมายถึงแอมบาสซาเดอร์  อันเป็นชื่อที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ในธุรกิจโรงแรมนั้นเอง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามขาดความเชื่อถือเนื่องจากไม่ซื่อตรงหรือโกงตามที่ลงข่าว เมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องหมายถึง ชื่อ ของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสาม / บริษัทโจทก์ที่ 1 และที่ 2  เป็นนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น  ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องกระทำโดยผู้แทน  โจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยลงข่าวในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 และ ที่ 2 โดยในเนื้อข่าวระบุชื่อโจทก์ที่ 3ว่าเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และ ที่ 2 นอกจากจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แล้ว ยังเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 3 ผู้ถูกระบุชื่อว่าเป็นกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนดำเนินหรือปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ด้วย โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหาย / โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเขียน และโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ และมิได้ยอมรับว่าเป็นผู้ให้ข่าวหรือได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ลงข่าวใส่ความโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ โดยนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาลเพื่อให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และ ที่ 5   ได้กระทำความผิดตามฟ้องเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าจำเลยที่ 3และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 2 อย่างไรและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5  ให้นโยบายว่าจะเสนอข่าวเกี่ยวกับหัวข้อข่าวและเนื้อข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 97/2541 จำเลยกับผู้เสียหาย เคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหาย เมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูดนอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธ และร้องด่าว่า  "มึงเป็นเมียน้อยสารวัตร ศ.อย่ามาทำใหญ่ให้กูเห็นนะ" ต่อหน้า พ. ซึ่งมากับผู้เสียหาย จึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2541 สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคาร กล่าวข้อความว่า "โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก" ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคาร ย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไป ย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ เป็นคนไม่ดี ทะเลาะกับสามี มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนต้องถูกย้าย และกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกัน หรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชาหรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่

-          กรณีที่ยังไม่เป็นการหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 863/2497 โจทก์จำเลยต่างเกิดทะเลาะด่าว่ากัน โจทก์จะมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 339 ไม่ได้ / กล่าวคำว่า ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์เดียรัจฉาน ไม่ใช่คำลามกอนาจาร และไม่เป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 282 ด้วย.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1201/2505 จำเลยเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษ จดหมายเลขสลากกินรวบที่ผู้ขาย ก่อนจับได้มีการยื้อแย่งกัน และจับได้บนบ้านโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า "เดียวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก" (โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรสาวโจทก์ที่ 1) ดังนี้ ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 106/2506 กล่าวถ้อยคำว่านายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ด้วยความน้อยใจ และมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากถูกนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พูดเป็นทำนองไล่ อันเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นการขาดคารวะ แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท (ดูย่อเต็ม)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 140/2509 จำเลยถูกพนักงานสอบสวนสอบสวนเป็นพยานในคดีที่โจทก์กับพวกเป็นจำเลยต้องหากระทำผิดวางเพลิง  จำเลยให้การว่า "ข้าพเจ้าเองเมื่อนางแอ๊ดเล่าให้ฟังเช่นนี้มีความรู้สึกสงสัยอยู่ เพราะข้าพเจ้าเองก็เคยทราบข่าวตลาดร่ำลือกันอยู่แล้วว่า นายห้างศรีอัมฤทธิ์ผู้นี้ได้จ่ายเงินห้าหมื่นบาทให้นายเสรี อิทธิสมบัญญัติ (โจทก์) เป็นค่าจ้างในการวางเพลิงครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเป็นความจริงเพียงใด"  ดังนี้ จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าเป็นข่าวเล่าลือ ไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใดรู้เห็นมาบอกเล่าจำเลย  ไม่ใช่คำบอกเล่าที่กล่าวให้ผู้ฟังเชื่อตามคำจำเลย  จำเลยถูกสอบสวนเป็นพยานจึงให้การต่อเจ้าพนักงานไม่กระทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจ หรือเชื่อว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างวางเพลิงเผาตลาดได้ เพราะเป็นแต่ข่าวลือ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ตามมาตรา 326 / ฎีกาโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา ต่อพนักงานสอบสวนจำเลยต้องมีความผิดตามมาตรา172, 174 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2509 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชังดูหมิ่นขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ตามความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยข้างต้นไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 101/2513 ครูโรงเรียนราษฎร์มีหนังสือถึงเลขาธิการสมาคมโรงเรียนราษฎร์ กล่าวหาผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราษฎร์โรงเรียนหนึ่งเกี่ยวกับการบริหารและการเงินของโรงเรียน ขอให้ตั้งกรรมการสอบบัญชีการเงินตลอดถึงตัวโจทก์ เกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดและเงินค่าสอนพิเศษด้วย แต่มิได้กล่าวหาโจทก์ว่าทุจริตฉ้อโกงเงินของโรงเรียน หรือหาว่าโจทก์กับผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่ร่วมกันกระทำทุจริต ดังนี้ ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และหนังสืออีกฉบับหนึ่งอ้างถึงหนังสือฉบับแรกนั้น ขอให้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนโดยด่วนและขอให้อายัดเอกสารต่าง ๆ เพื่อรักษาความยุติธรรม กับว่าคณะครูและนักเรียนมีความคิดเห็นว่า อาจจะเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหาวิ่งเต้น เพื่อให้การตั้งกรรมการสอบสวนล่าช้ายิ่งขึ้น  เพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเอกสารบางอย่าง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรม และผิดวิธีการสอบสวน เพราะผู้ถูกกล่าวหาอาจจะเปลี่ยนรูปคดีได้  ดังนี้ก็เป็นการแสดงข้อความและความคิดเห็นโดยสุจริตและชอบธรรม เพื่อให้การสอบสวนได้เป็นไปโดยยุติธรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1545/2513 โจทก์จำเลยเกิดทะเลาะโต้เถียงกันด้วยความโกรธ โจทก์ห้ามจำเลยตัดต้นไม่ ว่าขืนตัดจะเอาเข้าตะราง จำเลยจึงตอบโต้ไปว่า โจทก์ก็ออกเช็คไม่มีเงิน จะต้องติดตะรางวันที่ 23 นี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวดังนี้เป็นถ้อยคำโต้ตอบ หรือย้อนคำโจทก์ เป็นเรื่องต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการทะเลาะโต้เถียงกัน จะถือว่าจำเลยเจตนาใส่ความ หมิ่นประมาทไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1752/2514 ข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ซึ่งแปลความหมายได้ว่า เป็นการกล่าวด้วยเจตนาจะล้อเลียนผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีฐานะและความสำคัญ ข้อความนั้นย่อมไม่เป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่  1142/2516 การที่จำเลยพูดว่า "ตุ๊ อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้เลยในขณะที่โจทก์กำลังโต้เถียงกับนายตุ๊สามีจำเลย เมื่อคณะผู้พิพากษาพร้อมด้วยโจทก์จำเลยในคดีแพ่งไปตรวจดูสถานที่พิพาทนั้นแม้คำว่า ขี้ จะหมายถึงตัวโจทก์  แต่ก็เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพเท่านั้น ยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326  จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ / ส่วนเรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น เมื่อมีผู้กระทำผิด  ก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะสั่งลงโทษผู้นั้นได้เอง ผู้อื่นหามีสิทธิที่จะเสนอคดีให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด ในคดีเช่นนี้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2015/2516 โจทก์เป็นตัวแทนของบุตรซึ่งกำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศ ได้กู้เงินและทำสัญญาทำนองที่ดิน และอาคารเรียนเป็นประกันเงินกู้กับจำเลย แล้วไม่ไถ่ถอนจำนอง จำเลยไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทางศาล เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนถึงนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ จึงได้ทำหนังสือถึงปลัดจังหวัดมีข้อความขอให้ช่วยจำเลยได้รับชำระหนี้จากโจทก์ แม้ตามหนังสือนั้นจะได้กล่าวว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลย จำเลยเตือนให้ชำระก็เพิกเฉย ก็เป็นการกล่าวตามความจำเป็นแก่การที่จะขอให้ปลัดจังหวัดช่วยไกล่เกลี่ยเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3247/2516 การทำประกาศบอกกล่าวให้ชำระหนี้ไปปิดก็ดี การบอกโจทก์ว่าหากไม่ชำระหนี้จะปิดประกาศทวงหนี้ก็ดี เป็นการเตือนโจทก์ให้ชำระหนี้ ข้อความตรงกับความจริง ไม่เป็นการดูหมิ่นหรือใส่ความโจทก์ (เทียบ ฎ 610/2482 ผิด มาตรา 326 อ จิตติ อาญา 2539 น 2194)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1399/2518 จำเลยพูดกับเด็กน้อง ผ.ว่า "พี่สาวเองมีผัวหรือยัง ควยกูนี่ใหญ่นะ พี่สาวมึงคงชอบ ขอเย็ดสักทีสองทีได้ไหม" เป็นการแสดงความคิดเห็น และไม่น่าทำให้ ผ.เสียชื่อเสียง ไม่เป็นหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2324/2518 กล่าวว่า "ไอ้ทนายกระจอก ทนายเฮงซวย" เป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม ให้อับอายเจ็บใจ ไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2340/2518 กรรมการผู้จัดการบริษัทนายจ้างมีหนังสือถึงลูกจ้างให้ออกจากงานทันที แม้มีข้อความที่ไม่แสดงไมตรี  ก็ไม่มีตอนใดแสดงว่าโจทก์ทุจริตน่ารังเกียจในวงสังคม ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2271 ,2272/2522 ประกาศหนังสือว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งรองประธานชมรสร้านขายยาแล้ว ถ้าผู้นี้ไปแอบอ้างชื่อชมรมทำการใด ๆ ชมรมไม่รับผิดชอบ ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2940/2522 กล่าวว่า "ผัวมึง ซี่กู้แล้ว" จึงไม่ยอมใช้หนี้ แสดงว่าโจทก์เคยได้เสียกับจำเลยมาก่อน แต่ไม่ยกย่องเป็นภริยาน้อย ไม่อ้างว่าโจทก์เสียชื่อเสียง เพราะจำเลยเป็นหญิงมีสามีอยู่ แล้วเป็นชู้กับโจทก์ ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3086/2522 กล่าวว่าทนายความรับเงินเขามา แล้วไม่เอามาให้ตัวความ เป็นหมิ่นประมาท ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นป้องกันตน / ฟ้องบรรยายว่ากล่าวคำหมิ่นประมาทต่อ น. ทางพิจารณาได้ความว่ากล่าวต่อหน้า ย.ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยไม่หลงต่อสู้ศาลลงโทษได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 858/2523 จำเลยกล่าวข้อความพาดพิงถึงโจทก์ ในขณะที่จำเลยเข้าประชุมราชการประจำเดือนของอำเภอ ตามหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงในที่ประชุม โดยมิได้จงใจกล่าวให้โจทก์เสียหาย แต่เพราะมีความประสงค์จะไม่ให้มีบ่อนการพนัน และซ่องโจรในท้องที่ของจำเลย เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 72/2524 กล่าวว่า "พิชัยเบิกเงินแล้วเอาใส่กระเป๋าพ่อบ้าน (ของโรงพยาบาล)" ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ คือพ่อบ้าน รับสินบน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 72/2525 ข้อความว่า"บักคม เป็นตำรวจหมา ๆ บ่อฮู้จักอีหยัง ไปบอกมันแน่ ถ้ามันเว้าอีก กูสิเอาเรื่อง" เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพที่จำเลยกล่าวติเตียนการกระทำของโจทก์ ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นตำรวจเลว หรือไม่มีความรับผิดชอบ จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3481/2525 ข้อความที่จำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวัน ลงพิมพ์ในหนังสือของตนว่า โจทก์ไม่มีชื่อในสารบบนักข่าวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวประจำจังหวัด ไปแอบอ้างหลอกลวงที่ไหน ให้แจ้งตำรวจจับ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. ม.326 ,328
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1064/2531 ข้อความที่กล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาท น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานไปตามที่ทนายความซักถามว่า โจทก์ไม่ค่อยทำหน้าที่ ธนาคารได้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ 10 เปอร์เซ็นต์ ฐานไม่ค่อยมาทำงาน ซึ่งโจทก์ก็รับว่าเป็นความจริง เพียงแต่เลี่ยงไปว่าถูกลงโทษฐานออกไปนอกสถานที่นั้น จำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดี มิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกประจำกอง หรือหัวหน้าแผนกประจำธนาคารวิญญูชนทั่วไป ได้ยินได้ฟังแล้ว หามีความเข้าใจในข้อแตกต่าง ของความหมายแห่งถ้อยคำของตำแหน่งหน้าที่ทั้งสองไม่ ผู้ได้ยินได้ฟังก็ไม่ถือหรือเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี อันเป็นการใส่ความ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1034/2533 คำกล่าวของจำเลยที่ว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นสารวัตรกำนันชอบพาตำรวจมาจับชาวบ้าน  และหากินกับตำรวจนั้น ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ย่อมเข้าใจความหมายไปในทางที่ว่าผู้เสียหายหาเหตุพาตำรวจมาจับชาวบ้าน และตำรวจเรียกร้องเอาเงินทอง หรือผลประโยชน์อย่างอื่นเพื่อแลกเปลี่ยน หรือตอบแทนกับการที่จะไม่ถูกดำเนินคดี ในฐานความผิดที่ถูกจับกุม อันเป็นเรื่องตำรวจรับสินบน แล้วแบ่งเงินทองหรือผลประโยชน์ที่ได้รับมาให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงได้ชื่อว่าหากินกับตำรวจ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คำกล่าวของจำเลยดังกล่าว ย่อมจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท / ส่วนคำกล่าวที่ว่า ผู้เสียหายนามสกุลหมา ๆ นั้น เป็นแต่เพียงการดูหมิ่นเหยียดหยามเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6624/2537 จำเลยพูดขึ้นว่า แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร..ทำงานกันอย่างนี้หรือ ต่อหน้าโจทก์ร่วมในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ผิด มาตรา 393 แต่ไม่เป็นการใส่ความ เพราะเป็นการวิจารณ์การทำงาน ไม่เป็นความผิด มาตรา 326

-          คำชี้ขาดฯ 60/2537 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57/2/43ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากภรรยาซึ่งเป็นตัวความ มีหนังสือบอกกล่าวในฐานะทนายความไปถึงสามีของตัวความ เพื่อให้ไปจดทะเบียนหย่า โดยข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าสามีประพฤติตนไม่เหมาะสม ยกย่องหญิงอื่นคือผู้เสียหายเป็นภรรยา การกระทำของทนายความและภรรยาซึ่งเป็นตัวความดังกล่าว ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหาย (ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อทราบว่าสามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่น อันเป็นเหตุหย่าตาม ปพพย่อมมีสิทธินำข้อความดังกล่าวไปปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องหย่าได้ เป็นการใช้สิทธิโดยชอบ ทั้งเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตฯ ส่วนผู้ต้องหาที่ 1 เป็นทนายความ เมื่อได้รับข้อเท็จจริงจากลูกความ จึงมีหนังสือบอกกล่าวไปยังสามีของผู้ต้องหาที่ 2 ให้ทราบถึงเหตุขอหย่าก่อน เป็นการกระทำในฐานะทนายความ เพื่อจุดประสงค์ให้มีการหย่าตามที่ได้รับมอบหมายโดยสุจริต หาได้มีเจตนาใส่ความหมิ่นประมาทผู้เสียหายแต่อย่างใดไม่)
-          คำชี้ขาดฯ 53/2539 (อัยการนิเทศ 2540 เล่ม 59/3-4/93การนำภาพเปลือยกายของผู้เสียหายใส่ซองจดหมาย แล้วส่งทางไปรษณีย์ให้แก่เพื่อนของผู้เสียหาย เป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดี เป็นคนหน้าด้าน เปลือยกายถ่ายรูปในที่สาธารณะ ย่อมทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ความผิดตาม ม 328 เป็นบทบัญญัติที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะการกระทำไม่จำกัดเฉพาะประกาศป่าวร้องต่อคนทั่วไป การโฆษณาต่อคนที่สามคนเดียว จนถึงประกาศทั่วบ้านทั่วเมืองก็เป็นการโฆษณาได้เท่า ๆ กัน ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาด้วยภาพ

-          การบรรยายฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1864-1865/2500 ฟ้องที่ขาดองค์ความผิดศาลยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ได้ แต่ฟ้องใหม่ในกรรมเดียวกันนั้นไม่ได้ / ฟ้องหาว่าหมิ่นประมาท ถ้าคำที่กล่าวไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการใส่ความ โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ประกอบให้เห็นว่าเป็นการใส่ความอย่างไร ถ้าโจทก์ขอให้จำเลยพิสูจน์ความจริง ก็ต้องบรรยายมาว่าความจริงเป็นอย่างไร / ฟ้องที่ไม่ถูกต้อง ศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 894-897/2506 ฟ้องว่า จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาล และสังฆมนตรี แต่ไม่ระบุว่าเป็นใคร เป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ที่หาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายก แม้ไม่ระบุพระนามก็ไม่เคลือบคลุม เพราะในขณะฟ้องนั้นสังฆนายก ก็มีองค์เดียวเท่านั้น ใคร ๆรวมทั้งจำเลยย่อมทราบได้ดี / ความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 นั้นไม่จำต้องระบุว่าบุคคลที่ 3เป็นใคร ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะบุคคลที่ 3 นี้อาจเป็นใครก็ได้ / เมื่อปรากฏว่าที่เกิดเหตุไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาล ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 161
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3086/2522 กล่าวว่าทนายความรับเงินเขามา แล้วไม่เอามาให้ตัวความ เป็นหมิ่นประมาท ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นป้องกันตน / ฟ้องบรรยายว่ากล่าวคำหมิ่นประมาทต่อ น. ทางพิจารณาได้ความว่ากล่าวต่อหน้า ย.ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยไม่หลงต่อสู้ศาลลงโทษได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1293/2529 ฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำด้วยหนังสือนั้น ป.ว.อ.ม.158 (5) บัญญัติไว้ 2 ประการ คือ ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ หรือติดมาท้ายฟ้อง เมื่อฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถ้อยคำอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว แม้โจทก์จะไม่สามารถส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นการใส่ความโจทก์ ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดฟ้องโจทก์ ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วเช่นกัน เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง มิใช่เป็นการรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามสายงาน จำเลยก็อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาท และฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้องได้

-          การนำสืบเกี่ยวกับความหมายของข้อความหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 324/2490 กล่าวคำว่า เขาว่าครูชาติหมา สอนให้เด็กชกต่อยกัน ดังนี้ไม่เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทตามมาตรา 282 / ถ้อยคำที่กล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น ศาลเป็นผู้พิจารณาความหมายได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบแสดงความหมาย / ถ้าในฟ้องไม่ได้แสดงว่า คำที่จำเลยกล่าวมีความหมายเป็นพิเศษแล้ว ศาลก็ถือว่าเป็นคำกล่าวตามธรรมดาสามัญ

-          ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 295/2505 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 โดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชน  ซึ่งมาประชุมกันว่า "ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนกสองหัว เหยียบเรือสองแคมเป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดีครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น" และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่า ทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าวจำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดประชุมอยู่ด้วย กับยืนยันมาในฟ้องว่า การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้น ก็โดยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความใจจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหาย ดังนี้ เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 619/2517 การกระทำซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องถือตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหาย / จำเลยลงภาพวาดมีข้อความกำกับในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ และมีสำนักงานอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา กล่าวหาว่ามีการทุจริตในเทศบาล แต่หนังสือพิมพ์ของจำเลยลงข่าวเหตุการณ์และจำหน่ายทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ มิได้จำหน่ายเฉพาะในเมืองยะลา และข้อความนั้นไม่มีตอนใดพาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลาโดยเฉพาะเจาะจง หรืออาจเข้าใจได้ว่า เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้น ทั้งในช่วงระยะปีเศษก่อนมีการโฆษณาภาพและข้อความนั้น เทศบาลเมืองยะลาก็มีการเปลี่ยนคณะเทศมนตรีถึง 7 ชุด คณะเทศมนตรีเมืองยะลาในขณะนั้นจึงไม่เป็นผู้เสียหาย อันจะฟ้องร้องให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 252/2518 โจทก์เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ก่อนจะเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยหรือไม่ก็ตาม จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์บ้างเป็นการกระทำแยกเป็นคนละตอน ไม่ทำให้โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายจากความผิดของจำเลย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3745/2527 ศ.ได้นำเจ้าพนักงานไปดูสถานที่ซึ่ง ศ.กับพวกร้องเรียนว่าจำเลยใช้รถแทรกเตอร์ไถดินกลบลำเหมืองสาธารณะ ศ.กับจำเลยเกิดโต้เถียงกัน และ ศ.ได้พูดว่าจำเลยก่อนว่าจำเลยจะโกงลำเหมือง จำเลยจึงพูดว่า ศ. ก็โกงที่เขามา ดังนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นถ้อยคำตอบโต้หรือย้อนคำ ศ.เป็นเรื่องต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการะทะเลาะโต้เถียงกัน ถือได้ได้ว่า ศ.เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2635/2529 โจทก์ร่วมใช้ให้ น.โทรศัพท์พูดกับจำเลย ไม่ใช่การใช้ให้ น.บอกจำเลยให้จำเลยกล่าวถ้อยคำที่เป็นหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมให้ น.ฟังการกล่าวถ้อยคำที่เป็นหมิ่นประมาทนั้น จำเลยกล่าวขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ร่วมหรือ น. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำผิดของจำเลย อันจะถือว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3954/2539 ที่จำเลยที่ 1 กล่าวถึงกองทัพ บุคคลธรรมดาทั่วไป ย่อมไม่อาจเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงกองทัพใด จะถือว่าจำเลยที่ 1 ใส่ความกองทัพบกโดยเฉพาะหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทกองทัพบก กองทัพบกจึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม  ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

-          หมิ่นประมาทบุคคลหนึ่ง กลุ่มบุคคล โดยไม่ได้เจาะจง หรือไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด ในกลุ่มนั้น คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้เสียหาย
-          ฎ 1325/2498 คำโฆษณากล่าวถึง แพทย์คนหนึ่งในโรงพยาบาล ไม่หมายถึงแพทย์ทุกคน ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          ฎ 1636/2522 กล่าวว่าราษฎรอำเภอบ้านกรวด ที่อพยพมาอยู่ที่เขากระโดงล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ ราษฎรที่กล่าวถึงนี้มีประมาณ 4,000 คน รวมทั้งโจทก์ เป็นการกล่าวถึงคนหมู่มาก คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าพาดพิงถึงบุคคลใด จะว่าจำเลยใส่ความโจทก์โดยตรงไม่ได้ ไม่เป็นความผิดตาม ม.326 อันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย
-          ฎ 3954/2539 กล่าวถึงกองทัพ ไม่อาจเข้าใจได้ว่ากองทัพใด กองทัพบกไม่ใช่ผู้เสียหาย
-          หมิ่นประมาททุกคนในกลุ่ม ทุกคนเป็นผู้เสียหาย
-          ฎ 448/2489 หมิ่นประมาท พระทั้งวัด มีเพียง รูป เป็นผู้เสียหาย ทั้งหมด รูปใดร้องทุกข์ก็ได้
-          ฎ ป 295/2505 “ทนายร้อยเอ็ดคบไม่ได้ฯ ” กล่าวในฟ้องว่า ร้อยเอ็ดมีทนายเพียง 10 คน เป็นผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 448/2489 จำเลยกล่าวความหมิ่นประมาทพระทั้งวัดซึ่งมีอยู่รวม องค์ต้องถือว่าทุกองค์เป็นผู้ได้รับความเสียหายและแต่ละองค์ย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 56/2490 การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฏหมายนั้น ถ้อยคำที่กล่าวจะต้องมุ่งเจาะจงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยฉะเพาะ / กล่าวความว่า คำโฆษณาของพวกและพรรคประชาธิปัตย์เป็นการหลอกลวงราษฎรให้หลงเชื่อ ดังนี้ แม้โจทก์จะแสดงได้ว่า โจทก์เป็นพรรคประชาธิปัตย์ด้วยคนหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท เพราะถ้อยคำนั้นมิได้มุ่งหมายถึงโจทก์โดยเฉพาะ / ฟ้องรัฐมนตรีหาว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางทุจจริต และผิด พ...การเลือกตั้ง โดยออกคำสั่งกล่าวถึงการกระทำของคณะประชาธิปัตย์บางคน กระทำการไม่ชอบต่างๆ แต่มิได้เจาะจงตัวผู้ใดนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเจาะจงตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดในคณะประชาธิปัตย์ ฉนั้นคนหนึ่งคนใดในคณะนั้น จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1325/2498 กรณีที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทข้อความที่กล่าวจะต้องมุ่งเจาะจงถึงบุคคลใดโดยเฉพาะและโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความถึงบุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาทนั้นด้วย / เมื่อในคำโฆษณามีความหมายเฉพาะนายแพทย์ชายคนหนึ่งไม่มีกินความถึงนายแพทย์ทุก ๆ คนของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งโจทก์หาได้นำสืบถึงนายแพทย์คนที่ถูกใส่ความหมิ่นประมาท ก็ย่อมทราบไม่ได้ว่านายแพทย์คนใดเป็นผู้เสียหาย / เมื่อตามคำฟ้องไม่มีช่องทางแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวใส่ความถึงนายแพทย์เฉลิม นายแพทย์เฉลิมจึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะพึงร้องทุกข์ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 295/2505 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 โดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชน  ซึ่งมาประชุมกันว่า "ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนกสองหัว เหยียบเรือสองแคมเป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดีครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น" และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่า ทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าวจำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดประชุมอยู่ด้วย กับยืนยันมาในฟ้องว่า การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้น ก็โดยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความใจจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหาย ดังนี้ เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1636/2522 กล่าวว่าราษฎรอำเภอบ้านกรวด ที่อพยพมาอยู่ที่เขากระโดงล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ ราษฎรที่กล่าวถึงนี้มีประมาณ 4,000 คน รวมทั้งโจทก์เป็นการกล่าวถึงคนหมู่มาก คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าพาดพิงถึงบุคคลใดจะว่าจำเลยใส่ความโจทก์โดยตรงไม่ได้ ไม่เป็นความผิดตาม ม.326 อันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6098/2531 กรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยหมิ่นประมาทอิมาม- อโยตลารูฮุลลาห์ โคมัยนี นั้นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย คือ อิมาม อโยตลา รูฮุลลาห์ โคมัยนี  มิใช่โจทก์ แม้โจทก์จะเคารพหรือนับถือเทิดทูน อิมาม อธยตลา รูฮุลลาห์ โคมัยนี ก็เป็นความผูกพันทางจิตใจของโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างบุคคล จะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้วยไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช้ผู้เสียหาย ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แม้โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปทูตฝ่ายวัฒนธรรมของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เป็นตัวแทนของรัฐดังกล่าว ไม่มีผลทำให้เป็นตัวแทนของอิมาม อโยตลา รูฮุลลาห์ โคมัยนี เมื่อโจทก์มิได้เป็นผู้เสียหายและมิได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3954/2539 ที่จำเลยที่ 1 กล่าวถึงกองทัพ บุคคลธรรมดาทั่วไป ย่อมไม่อาจเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงกองทัพใด จะถือว่าจำเลยที่  1 ใส่ความกองทัพบกโดยเฉพาะหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทกองทัพบก กองทัพบกจึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม  ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

-          เปรียบเทียบคดีข้อหาดูหมิ่น – หมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 78-79/2502 โจทก์จำเลยทะเลาะกันแล้วต่างคนต่างด่ากัน จำเลยด่าก่อน โจทก์จึงด่าตอบ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ฟ้องจำเลยว่าดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 252/2518 โจทก์เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ก่อนจะเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยหรือไม่ก็ตาม จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์บ้างเป็นการกระทำแยกเป็นคนละตอน ไม่ทำให้โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายจากความผิดของจำเลย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3745/2527 ศ.ได้นำเจ้าพนักงานไปดูสถานที่ซึ่ง ศ.กับพวกร้องเรียนว่าจำเลยใช้รถแทรกเตอร์ไถดินกลบลำเหมืองสาธารณะ ศ.กับจำเลยเกิดโต้เถียงกัน และ ศ.ได้พูดว่าจำเลยก่อนว่าจำเลยจะโกงลำเหมือง จำเลยจึงพูดว่า ศ. ก็โกงที่เขามา ดังนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นถ้อยคำตอบโต้หรือย้อนคำ ศ.เป็นเรื่องต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการะทะเลาะโต้เถียงกัน ถือไม่ได้ว่า ศ.เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 326
-          (ขส เน 2511/ 1) นายโก๋ นางสาวกี๋ ลักลอยได้เสียกัน นายแฉแอบเห็น นำไปเล่าให้นายเชยฟัง แต่นายเชย หูตึง ได้ยินและนำไปเล่าต่อว่า นายโก๋ข่มขืนนางสาวกี๋” (นายแฉ และนายเชย ผิดฐานใด) / ผิด ม 326 ทั้งคู่ เพราะแม้นายเชยหูตึง ได้ยินว่าข่มขืนชำเราก็เป็นคำหมิ่นประมาท ในความหมายทำนองเดียวกัน

-          (ขส พ 2528/ 10) นายขาวส่งจดหมายดูหมิ่นนายดำ เสมียนของนายดำ แอบอ่าน เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของนายขาว ไม่ผิด ม 326 และการส่งกับการรับจดหมาย ต่างเวลากัน ไม่เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ตาม ม 393 ฎ 1100/2516 / เสมียนแอบอ่านนำไปเล่าต่อ ให้เพื่อฟัง แม้จะเล่าเพราะเพื่อนถาม ก็ย่อมสำนึกในการกระ และเล็งเห็นผล ถือได้ว่ายืนยันข้อเท็จจริง โดยเจตนาใส่ความนายดำ เสมียนผิด ม 326 ฎ 380/2503



มาตรา 327     ผู้ใด ใส่ความผู้ตาย” ต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 327
-          (ขส เน 2513/ 7) นายบอนกล่าวว่า นางกล่ำผู้ตาย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ลักลอบเป็นชู้ นายบอนผิด ม 327 ไม่ใช่ ม 326 / นายกล้า เป็นบุตรนางกล่ำ จะเดินทางไปร้องทุกข์ แต่ถูกรถชนตาย ภริยานายกล้า ร้องทุกข์ได้ตาม ม 333 ว 2

มาตรา 328     ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วย เอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจาย เสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวร้องด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 418/2523 ข้อความที่จำเลยประพันธ์ดังกล่าวสืบเนื่องมาจากข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันในหัวข้อข่าวที่ว่า "สมัครเกิดโมโหเดือดด่าใส่ตำรวจโง่" การกระทำของจำเลยเป็นการวิจารณ์ข่าวเพิ่มเติม มิใช่ประพันธ์เรื่องขึ้นใหม่ จำเลยประพันธ์ และนำพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ว่ารถยนต์คันที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิด จ่าสิบตำรวจเจริญเจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อคู่กรณีตามความเป็นจริง กลับถูกโจทก์ตะคอกด่าว่า "โง่ทำงานไม่เป็น" แล้วโจทก์สั่งให้คนขับรถขับรถยนต์หนีไปโจทก์ เป็นคนขนาดเคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย กลับเหยียดหยามกฎหมาย ข้อความที่จำเลยประพันธ์ดังกล่าว มิใช่เพียงติชมการกระทำของโจทก์เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ว่าโจทก์ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิดแล้ว โจทก์ยังให้คนขับรถขับรถยนต์หนีไป ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการใส่ความโจทก์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2499/2526 จำเลยนำข้อความไปลงหนังสือพิมพ์รายวันว่าประกาศจับโจทก์ในข้อหา หรือฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ผู้ใดพบเห็นหรือชี้แนะได้ให้นำส่งสถานีตำรวจ และลงรูปโจทก์ไว้ข้างข้อความดังกล่าว โดยปรากฏว่าขณะจำเลยนำข้อความตามฟ้องและรูปโจทก์ไปลงโฆษณานั้น จำเลยก็ทราบว่าโจทก์รับราชการมีที่อยู่แน่นอน ซึ่งจำเลยอาจนำเจ้าพนักงานไปจับกุมโจทก์ตามหมายจับได้โดยง่าย ไม่มีความจำเป็นต้องลงโฆษณาประกาศจับทางหนังสือพิมพ์ และข้อความที่ลงโฆษณา ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เรื่องที่จำเลยลงโฆษณาก็เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้พนักงานสอบสวนจะออกหมายจับโจทก์จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1459/2527 โจทก์ขอกลับเข้ารับราชการในกองทัพอากาศ กองทัพอากาศสอบถามไปยังการท่าอากาศยานฯ ถึงเหตุที่โจทก์ถูกปลดจากการเป็นพนักงานของการท่าอากาศยาน ฯ จำเลยในฐานะผู้ว่าราชการท่าอากาศยานฯ จึงมีหนังสือตอบว่าโจทก์ถูกปลด เพราะมีมลทินมัวหมอง มิใช่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสารตามความหมายของ ป.อ.ม.328 และการที่จำเลยมีหนังสือถึงกองทัพอากาศดังกล่าว เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 69/2529 ขณะ ป.ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หนังสือพิมพ์ได้พาดหัวข่าวในหน้า 1 ว่า "เมีย ผวจ. เต้นก๋า ขู่ประธานสภา บุกโรงพักจวกแหลก โมโห สารภาพ" ซึ่งไม่เป็นความจริง เมื่อโจทก์เป็นภริยา ป.ข้อความดังกล่าวจึงใส่ความโจทก์  โดยการโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์ น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เข้าลักษณะความผิดถานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. ม. 326,328 ไม่จำต้องพิจารณาข้อความเนื้อหาของข่าวว่ามีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อีกหรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ถ้ามีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ อีกก็เป็นผิดกรรมเดียวกับที่พาดหัวข่าว / ข้อความที่แก้ข่าวจะต้องอยู่ในหน้าเดียวกันอันเป็นเหตุให้แก่ โดยมีขนาดแนว (คอลัมน์) และตัวอักษรในเนื้อเรื่องเช่นเดียวกัน เมื่อหนังสือพิมพ์ลงพาดข่าวในหน้า 1 ด้วยขนาดอักษรโตที่สุดในหน้านั้น ส่วนการแก้ข่าวกลับลงพิมพ์โฆษณาในหน้า 16 ด้วยขนาดอักษรตัวเล็กเท่าตัวอักษรทั่ว ๆ ไป ที่บรรยายเนื้อหาของเรื่องในหนังสือพิมพ์นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ม.43 สิทธิการฟ้องของโจทก์ทั้งทางแพ่งและทางอาญาไม่ระงับไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1101/2530 การที่จำเลยทำหนังสือซึ่งจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าไม่มีมูลความจริง ส่งไปยังกรรมการตุลาการทุกคน กล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการคนหนึ่ง มีคดีกับจำเลย และโจทก์ใช้อิทธิพลในฐานะเป็นกรรมการตุลาการ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีเกิดความกลัว ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย อันทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น จำเลยไม่อาจแก้ตัวได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน เพราะเจตนาของจำเลยส่อแสดงชัดว่ามุ่งประสงค์จะใส่ความทำลายชื่อเสียงโจทก์ เพื่อให้ผู้ไม่ทราบความจริง เกิดเข้าใจผิดดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 328
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5599/2530 จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ด้วยข้อความอันมีมูลเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แล้วหนังสือพิมพ์นำข้อความนั้นไปลงพิมพ์โฆษณา ดังนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ไปลงพิมพ์ การที่หนังสือพิมพ์นำข้อความนั้นไปลงพิมพ์ จึงเป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะ คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม มาตรา 328 (ไม่วินิจฉัยโดยตรงถึงประเด็นเรื่องเจตนาย่อมเล็งเห็นผล)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1808-1809/2531 ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า ผู้เสียหายเรียกตัวญาติหาตัวลำบากแถมยังมีราคีเรื่องอื่น ๆ เป็นข้อความที่แสดงความรู้สึกว่าไม่อาจเรียกตัวผู้เสียหาย หรือพบตัวผู้เสียหายลำบากเท่านั้น มิได้แสดงว่าผู้เสียหายมีราคีมัวหมองในเรื่องใด ผู้เสียหายจึงมิได้ถูกใส่ความ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท / ส่วนข้อความที่ลงพิมพ์ว่า "เหตุไฉนรัฐมนตรีบัญญัติจึงพูดบิดเบือนความจริง เรื่องศาลากลาง สนามกีฬา ทำไมไม่พูดเรื่องกัญชาข้อหาฉกรรจ์เพราะประชาชนข้องใจ แต่ที่จำได้ ส.ส.ขี่ควายไม่อายเท่าใด ส. ส.ค้ายาเสพติด นั่นคือสิ่งที่ประชาชนสนใจ" นั้น ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ย่อมเข้าใจได้ว่า รัฐมนตรีบัญญัติผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรค้ายาเสพติดให้โทษคดีอาญา ซึ่งไม่ตรงกับความจริง จำเลยหาได้ติชมด้วยความเป็นธรรมหรือความสุจริตใจแต่อย่างใดไม่  และมิใช่ข้อความที่ไม่เหมาะสม  แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายค้ายาเสพติดให้โทษจึงเป็นข้อความที่ใส่ความผู้เสียหายด้วยการแพร่ข่าวสารทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5249/2542 จำเลยเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ส. มิให้บทประพันธ์ หรือข้อความที่ลงพิมพ์กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น หรือขัดต่อจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ และต้องไม่ผิดต่อกฎหมาย หากมีข้อความใดละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นหรือผิดต่อกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดเสมือนหนึ่งจำเลยเขียนข้อความนั้นด้วยตนเอง การที่หนังสือพิมพ์ ส. ลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางเพศกับ ศ. อันเป็นความเท็จและเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ ยังส่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่เป็นการสร้างสรรค์และขัดต่อจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ แม้การลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 3 เดือน จะไม่เกิดผลในการแก้ไขให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดีได้ก็ตาม แต่การลงโทษจำคุกระยะสั้น ก็ยังทำให้จำเลยหลาบจำ และเป็นการปรามผู้อื่นมิให้กระทำผิดได้

-          การใส่ความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า "ใส่ความ" ตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลย ที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามธรรมนองคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

-          การโฆษณา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4291/2548 จำเลยที่ ทำหนังสือร้องเรียนซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท น.ยื่นต่อนายอำเภอคอนสารโดยเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร เพราะหนังสือร้องเรียนดังกล่าวยื่นต่อนายอำเภอคอนสาร ซึ่งป็นบุคคลที่สามเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาใส่ความโดยโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่วไปทราบ นอกจากนายอำเภอคอนสาร จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หมายเหตุ คดีนี้จำเลยที่ ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่
-          คำชี้ขาดฯ 53/2539 (อัยการนิเทศ 2540 เล่ม 59/3-4/93การนำภาพเปลือยกายของผู้เสียหายใส่ซองจดหมาย แล้วส่งทางไปรษณีย์ให้แก่เพื่อนของผู้เสียหาย เป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดี เป็นคนหน้าด้าน เปลือยกายถ่ายรูปในที่สาธารณะ ย่อมทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ความผิดตาม มาตรา 328 เป็นบทบัญญัติที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะการกระทำไม่จำกัดเฉพาะประกาศป่าวร้องต่อคนทั่วไป การโฆษณาต่อคนที่สามคนเดียว จนถึงประกาศทั่วบ้านทั่วเมืองก็เป็นการโฆษณาได้เท่า ๆ กัน ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาด้วยภาพ

-          ลักษณะของการกระทำผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2272/2527 (สบฎ เน การโฆษณาหมิ่นประมาท นับแต่วันปิดป้าย ยังคงดำเนินต่อเนื่องกันไป เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะปลดป้ายประกาศออก

-          กรณีมีสิทธิกระทำได้ ไม่เป็นความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1739/2523 จำเลยทวงถามแล้วหลายครั้ง โจทก์ไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เป็นคำสั่งสำนักงานทนายความให้โจทก์ชำระหนี้ภายใน 7 วันซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เพราะโจทก์เป็นหนี้ค้างชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 อยู่จริง จำเลยทั้งสองมิได้กลั่นแกล้งลงประกาศในหนังสือพิมพ์ โดยมีเจตนาไม่สุจริต ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 328
-          (ขส เน 2512/ 4) นายสา ให้นาสี เขียนข้อความหมิ่นประมาท แล้วให้นายสีเอาไปปิดไว้ที่ตลาด เมื่อปิดประกาศ แต่หลุดหายไปก่อนมีคนเห็น นายสาบอกให้นายสีเขียนข้อความหมิ่นประมาท ไม่ผิด ม 326 เพราะนายสีเป็นผู้ร่วมทำผิด ไม่ใช่การใส่ความต่อบุคคลที่สาม นายสีนำประกาศไปปิดไว้ แต่หลุดหายไปก่อน ผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ม 328+80



มาตรา 329     ผู้ใดแสดงความคิดเห็น หรือข้อความใด โดยสุจริต
(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

-          มาตรา 329 (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 379/2505 การฟ้องให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทจะต้องได้ความว่า จำเลยจงใจเจตนาใส่ความเพื่อให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง / การที่โจทก์ซึ่งเป็นเทศมนตรีไปเก็บเงินจากพ่อค้าแม่ค้า ด้วยวิธีที่ไม่งาม นอกเหนือระเบียบแบบแผนการบริหารราชการ ส่อให้เห็นไปได้ว่าโจทก์ทำการทุจริตในหน้าที่ จำเลยจึงร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงชี้ว่า จำเลยเจตนาร้ายกลั่นแกล้ง ตรงข้ามกลับฟังได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ผู้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลและราษฎร์ในเขตเทศบาล กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ย่อมไม่มีฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 437/2505 จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อกำนันว่า "ผู้ใหญ่เสริมไม่ซื้อตรง ไม่มีศีลธรรมจะกินเงินผม" เมื่อได้ความว่านายเสริมได้เรียกร้องเงินจากจำเลยจริง การที่จำเลยพูดต่อกำนันดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 305/2507 กรรมการร้านสหกรณ์ เมื่อได้รับอนุญาตจากประธานที่ประชุมใหญ่ประจำปีแล้ว ได้กล่าวโต้ตอบข้อซักถามของสมาชิกให้ทราบถึงเหตุที่ต้องปฏิบัติในกิจการของร้านสหกรณ์ที่ต้องไปว่าจ้างทนายความจากกรุงเทพฯ ว่า ทนายความที่จังหวัดนั้นคบไม่ได้ เป็นนกสองหัวเหยียบเรือสองแคม เป็นมวยล้ม ฯลฯ คำกล่าวเช่นนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามตำแหน่งหน้าที่ เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับกรรมการผู้นั้นตามทำนองคลองธรรม กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยจะมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะการกระทำของจำเลย เมื่อไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 417/2507 จำเลยได้ฟ้องโจทก์ฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อมาจำเลยทราบว่าโจทก์จะอ้างฐานที่อยู่ว่า ขณะเกิดเหตุนั้นโจทก์ปฏิบัติราชการอยู่ ณ ที่ทำการจำเลยจึงทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ให้หาทางป้องกันมิให้โจทก์ทำหลักฐาน และมิให้มีการกระทำผิดขึ้นอีก เช่นนี้เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของจำเลยตามคลองธรรม จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1124/2507 จำเลยได้นำข้อความเท็จไป ร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิพากษาไปร่วมรับประทานเลี้ยงกับโจทก์ซึ่งผู้เสียหายตัดสินให้ชนะคดีที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้น และได้ไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้เสียหายในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่ผู้เสียหาย เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหาย เสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ยิ่งกว่านั้น ข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จดังกล่าวยังมีความหมายไปในทางหาว่าผู้เสียหายประพฤติตนไม่สมควรเป็นไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริต เป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายในการพิพากษาคดี อันเป็นความผิดตามมาตรา 198 และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 326 อีกด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1) เพราะจำเลยมีเจตนแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต / ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้น จะต้องเป็นพนักงานสอบสวน แต่หมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้บังคับบัญชีมีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยกับผู้เสียหาย การที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคสอบสวนจำเลย จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค  ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหาย เสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 137
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1183/2510 พระภิกษุในวัดเดียวกันทำหนังสือร้องเรียนต่อสังฆนายกว่า พระภิกษุเจ้าอาวาสประพฤติผิดธรรมวินัยโดยร่วมประเวณีกับหญิง แม้เรื่องที่ร้องเรียนกล่าวหานั้น จะไม่เป็นความจริง แต่ได้ร้องเรียนไปโดยสุจริต โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง ดังนั้นไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2512 (สบฎ เน 2111) โจทก์เป็นทนายความให้กับลูกความ เข้าไปคุยกับจำเลยในฐานะผู้จัดการบริษัทเช่าซื้อ จำเลยพูดว่า "คุณเป็นทนาย ไม่รีบรักษาผลประโยชน์ของลูกความคุณเอง จะมาโทษผมได้ยังไง" ถ้อยคำเช่นนั้น เป็นการกล่าวในหน้าที่การงานของจำเลย ตาม ม 329 (1) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่ใช่การดูหมิ่นซึ่งหน้า
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1547/2514 การที่จำเลยเป็นพระภิกษุในวัดเดียวกันกับโจทก์ในคดีนี้ แสดงตนเป็นโจทก์ขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ของวัดนั้น  ในกรณีที่โจทก์ต้องหาว่าประพฤติผิดพระวินัย เป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยมีมูลให้จำเลยเชื่อด้วยสุจริตใจ เช่นนั้น ไม่ใช่กระทำเพื่อกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ โดยไม่มีมูลเสียเลย จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2518 โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายเคมีของบริษัทเดียวกัน โจทก์ติดต่อให้บริษัทคู่แข่งของบริษัท ล.เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีของบริษัท ฮ.ต่อมาโจทก์ออกจากบริษัท ล.ไปทำงานกับบริษัท บ.จำเลยจึงประกาศปิดไว้ที่บริษัท ล. ให้พนักงานทราบทั่วกันว่าโจทก์ถูกห้ามเข้ามาในบริเวณสำนักงานพิกัดการบริษัทและคลังพัสดุของบริษัท เพราะโจทก์ได้กระทำผิดระเบียบกฎข้อบังคับของบริษัท และทำให้บริษัทเสียประโยชน์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม และป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับบริษัท ล. ตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1543/2519 โจทก์ยิงรถยนต์ของจำเลยเสียหาย โดยไม่มีเหตุ จำเลยเชื่อว่า โจทก์เป็นโรคจิต จึงร้องเรียนการกระทำของโจทก์ต่อกรมเจ้าสังกัด เป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2541/2520 โจทก์ร่วมให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความทำนองว่า จำเลยไปแจ้งความเท็จต่อตำรวจว่าโจทก์ร่วมลักทรัพย์ จำเลยสร้างหนี้ขึ้นเอง โจทก์ร่วมไม่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ จำเลยจึงเขียนข้อความลงพิมพ์โต้ตอบและโฆษณาหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ร่วมเป็นเมียน้อยจำเลย ทำให้สามีโจทก์ร่วมเข้าใจผิด ดังนี้ ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1756/2521 ภริยาไม่จดทะเบียนของชาย กล่าวกับหญิงที่มีความสัมพันธ์กับชายว่า "คุณเป็นข้าราชการจะแย่งผัวฉัน ดูซิว่าจะมีผิดไหม" เพราะหญิงนั้นสัมพันธ์ทำนองชู้สาวกับชายจริง กล่าวด้วยความหึงหวงโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรมตาม ป.อ. ม. 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3371/2522 กล่าวว่านายอำเภอพิมพ์หนังสือขาย แล้วไม่นำเงินไปซื้ออาวุธแจกประชาชนตามที่โฆษณาไว้ ฯลฯ เป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ส่อไปตามที่จำเลยพูดโฆษณา เป็นการกล่าวโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับคนที่สมัครเป็นแพทย์ตำบล ซึ่งนายอำเภอดำเนินการไม่เรียบร้อย เป็นการติชมการปฏิบัติงานของนายอำเภอ ไม่เป็นหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 353,354/2529 จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ อาจทำให้ราชการเสียหายและเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดี ในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ.ม.329 (1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3680/2529 เทศบาลสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างอาคารไว้ก่อน โจทก์มิได้ระงับการก่อสร้าง และเพิ่งขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในภายหลัง การอนุมัติให้ก่อสร้าง เทศบาลก็ผิดสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดิน และมิได้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลได้ทักท้วงในการประชุมสภาเทศบาลถึง 4 ครั้ง แต่ไม่บังเกิดผล การที่จำเลยทำบันทึก ร้องเรียนเสนอคณะเทศมนตรีว่าโจทก์บุกรุกที่ดินที่เทศบาลมีสิทธิครอบครอง ทำให้เทศบาลขาดประโยชน์ เป็นการขัดนโยบายของเทศบาล แม้จะกล่าว อ้างถึงการกระทำของโจทก์ว่า เป็นของผู้มีอิทธิพลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจจากพฤติกรรมของโจทก์ ซึ่งกระทำอยู่ในขณะนั้นที่ทำให้เทศบาลเสียหาย จึงเป็นการร้องเรียนโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับจำเลยในฐานะสมาชิกเทศบาลตามคลองธรรมตาม ป.อ. ม.329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ม.326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 572/2532 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองทางด้านการแสดงภาพยนตร์ และเป็นเจ้าของไข้ของ จ. ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จำเลยที่ 2 ว่า "นอกจากไม่นับถือ ไม่เชื่อถือแล้ว ยังเห็นว่า ศิษย์ตถาคตผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง ประพฤติตัวไม่อยู่ในสมณวิสัยด้วย" และ "ทุก ๆ วันที่ปัญหาเดือดร้อนรำคาญมากกับหมอเถื่อน หมอดี ทั้งที่เป็นฆราวาส ทั้งห่มผ้าเหลือง วันหนึ่ง ๆ มีเป็นสิบ ๆ คนไปรออยู่หน้าห้อง กล้องถ่ายรูปก็พร้อม เราก็กันไว้ไม่ให้ไป เพราะการรักษาควรจะเป็นเรื่องของแพทย์ เปิ้ลจะหายหรือไม่ก็อยู่ที่หมอ ไม่ใช่อยู่กับคนที่ยืนสวดมนต์ชักลูกประคำพวกนี้ อยากจะบอกฝากไปถึงด้วยว่า ถ้าอยากดังนักก็ขอให้ไปดังที่อื่น คนป่วยของผมต้องการพักผ่อน อย่าได้ไปรบกวนกันเลย" การที่จำเลยที่ 1 กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่ จ. ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดแพทย์ห้ามเยี่ยมในห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลที่ จ.นอกพักรักษาตัวอยู่ชิดเตียงที่ จ. นอนป่วย อันเป็นสิ่งไม่ควรปฏิบัติตามวิสัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันมีเหตุในจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าการกระทำของโจทก์ มิใช่กิจอันอยู่ในสมณวิสัย จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุในศาสนาประจำชาติอันเป็นวิสัยของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) (3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ลงข้อความดังกล่าวจึงไม่มีความผิดด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3725/2538 จำเลยเข้าใจว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะไปกล่าวประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นซึ่งหน้า ยกเอาความชอบธรรมมาปฏิเสธความผิดไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 9426/2539 การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยทั้งสอง มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่า ทำนองว่าโจทก์ใช้อิทธิพลบีบบังคับคณะกรรมการ พิจารณาผลการประกวดราคาอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เป็นผู้ได้งาน การที่โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชา และเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และเป็นผู้ชี้ขาดในการประชุม ในความเข้าใจของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยทั้งสอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของโจทก์ ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และเสนอความคิดเห็นไปยังผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า โจทก์พิจารณาให้ความเป็นธรรมได้ โดยเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ตามนั้นจริง จึงเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรมป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544 เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมแล้ว เห็นว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบ ทำให้ทางราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกัน ต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)

-          มาตรา 329 (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 223/2524 จำเลยไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ จำเลยทำบันทึกกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า โจทก์ไม่อุทิศเวลาให้ราชการมาทำงานสายเป็นประจำ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และทำให้ข้าราชการแตกแยกความสามัคคี ดังนี้เป็นหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่ใช่แสดงความเห็นโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม  ป.อ. ม.329 (2) แม้บันทึกของจำเลยผ่านผู้เกี่ยวข้อง 12-13 คน ก็ไม่ใช่เผยแพรไปยังสาธารณชนป่าวร้อง ไม่เป็นโฆษณาตาม ม.328

-          มาตรา 329 (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 140/2505 จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในคดีหนึ่งแล้ว จำเลยกล่าวว่า "คดีนี้ไม่น่าจะแพ้เลย ที่แพ้ก็เพราะเจ้าเมืองสั่งนายอำเภอเมืองไม่ให้ไปเป็นพยาน เจ้าเมืองอย่างนี้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน" เช่นนี้แปลได้ว่า จำเลยว่าการสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้เสียความยุติธรรมเป็นเหตุให้จำเลยแพ้คดี ผู้ปกครองทำอย่างนี้ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ย่อมทำให้ผู้ราชการจังหวัดเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว หาใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามมาตรา 329 (3) ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1116/2507 เจ้าหน้าที่แจกผ้า ให้แก่ราษฎรผู้ประสบวาตภัยไม่รัดกุม ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นพฤติการณ์ที่มีช่องทางให้ราษฎรทั่ว ๆ ไปคิดเห็นไปได้โดยสุจริตใจว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในการแจกเสื้อผ้านั้น ไม่ได้ทำไปโดยเที่ยงธรรม จำเลยจึงกล่าวว่า "ไม่ยุติธรรม" และนำความไปบอกเล่าบุคคลที่ 3 ว่า "พวกผมได้รับผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ ทั้งนั้น ส่วนผ้าดี ๆ ใหม่ ๆ ปลัดกับกำนันเอาไปหมด ฯลฯ" ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นของตนโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกรณีต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) จำเลยไม่มีความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2723/2522 แม้หากจะฟังว่าข้อความตามที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของจำเลย มีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2315/2524 จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า "หลวงพ่อวัดบึง และวัดธาตุใช้ประชาชน บังหน้าต่อต้านพระที่สุสานป่าช้า" เนื่องจากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้เสียหายและบุคคลฝ่าย ที่ต้องการขับไล่พระภิกษุรูปหนึ่งออกจากป่าช้า และพูดตามความรู้สึกนึกคิดของตน ซึ่งถ้อยคำมิได้รุนแรงถึงกับทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนประชาชนในตำบลก็รู้กันอยู่ทั่วไป กรณีไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้เสียหายเอง หากแต่เป็นเรื่องของส่วนรวมเกี่ยวกับประชาชนทั่วไป ประชาชนจึงมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3316/2525 การสร้างท่อประปา ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบ แม้จะไม่ถูกแบบแปลนและไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่ามีการทุจริตหรือไม่ จำเลยได้เขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์ซึ่งตนเป็นบรรณาธิการว่าโจทก์เป็นข้าราชการที่เลว คดในข้องอในกระดูกฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตโกงกินในการสร้างท่อประปา เป็นเหตุให้บ้านเมืองฉิบหาย พร้อมกับสาปแช่งโจทก์ ดังนี้ เป็นการใส่ความโจทก์ ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์จะพึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. ม.326 และเป็นการละเมิดต่อโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2818/2531 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานในเทศบาลผู้หนึ่ง ได้กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสมาชิกสภาเทศบาลนั้น มิใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการของนายกเทศมนตรี  และถ้อยคำที่จำเลยกล่าว ก็เป็นการกล่าวติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้เสนอญัตติ และเพื่อให้สมาชิกสภาเทศบาลรับทราบเรื่องที่จำเลยได้เสนอเข้าพิจารณา ในที่ประชุม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและหมิ่นประมาทโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4295/2531 จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่ ซ. กับพวกยื่นคำร้องขอให้ศาล สั่งเลิกบริษัท น. เพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าบริษัท น. ประสบภาวะขาดทุน เพราะการบริหารงานของบริษัทหละหลวม ไม่เป็นระเบียบ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไม่สุจริต และกรรมการบริหารของบริษัททุจริตทำให้การดำเนินงานของบริษัทไม่มีโอกาสจะฟื้นตัว เป็นการยืนยันว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท น.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทโดยสุจริต และกระทำการทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทขาดทุน จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวในฐานะพยาน มิใช่คู่ความ จำเลยมิได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัท น.อันจะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งบริษัท น. ก็เป็นบริษัทเอกชน มิใช่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณะ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม มาตรา 329 (3)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 62/2535 ก่อนเกิดเหตุได้มีผู้บริจาคเงินให้โรงเรียนซึ่งผู้เสียหายเป็นครูใหญ่จำนวนหนึ่ง ผู้เสียหายลงจำนวนเงินไว้ส่วนบัญชีรับบริจาคน้อยกว่าตามที่บริจาคมา ทั้งไม่มีบัญชีแสดงว่าได้ใช้จ่ายเป็นค่าอะไร จำนวนเท่าใด ไม่เคยทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่าย ของโรงเรียนให้คณะกรรมการศึกษาของโรงเรียนทราบเหมือนครูใหญ่คนก่อน ๆ การกระทำของผู้เสียหายดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการศึกษาของโรงเรียน เข้าใจไปได้ว่าผู้เสียหายไม่สุจริต การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อบุคคลที่สาม ในทำนองที่ว่าผู้เสียหายทุจริตเบียดบังเอาเงินของโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ทำการพัฒนาโรงเรียน จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมผู้เสียหายด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของจำเลย ในฐานะกรรมการศึกษาของโรงเรียนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1724/2543 จำเลยที่ 2 ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโจทก์ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ก. เปรียบเทียบโจทก์กับบุคคลอีกคนหนึ่งว่า มีจิตวิญญาณของครูโดยแท้ ส่วนโจทก์น่าจะเรียกว่า ผู้รับจ้างสอนมากกว่า เพราะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับบุคคลดังกล่าวราวฟ้ากับดินและข้อความที่ว่า อย่างไปบ้าจี้กับผู้นี้ (โจทก์) มากนัก เพราะแทนที่จะส่งเสริมให้สหกรณ์เจริญก้าวหน้า กลับจะเป็นการฉุดรั้งความก้าวหน้า กับข้อความว่าโจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์ พ. อีกแห่งหนึ่ง หลังเข้ามากวนน้ำให้ขุ่นอย่างมีวัตถุประสงค์อะไร น่าระอาเต็มทนกับพฤติกรรมของคนประเภทนี้ เป็นการเปรียบเทียบ และมีความหมายให้ผู้อื่นที่ได้อ่านได้ยินหรือได้ฟังเกิดความรู้สึก และเข้าใจต่อตัวโจทก์ ว่ามีพฤติกรรมไปในทางไม่ดี ไม่เหมาะสมที่จะเป็นครู น่าจะเรียกว่าผู้รับจ้างสอน และเป็นผู้ทำลายวงการสหกรณ์ น่าระอากับพฤติกรรมของโจทก์ แม้ข้อความบางตอนเป็นการชี้แจงตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์กล่าวหา อันพอจะถือได้ว่าเป็นการแสดความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันตน หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม แต่การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า เป็นการตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์มักจะกล่าวโจมตีผู้อื่น และร้องเรียนผู้อื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาจะแสดงความคิดเห็น หรือข้อความเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนเองแม้บทความของจำเลยที่ 2 จะชี้แจ้งถึงระบบสหกรณ์อยู่ด้วย แต่เมื่ออ่านประกอบกันแล้ว ถือไม่ได้ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

-          มาตรา 329 (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2976/2522 หนังสือพิมพ์ลงข้อความว่า เทศบาลจะฟ้องขับไล่โรงพยาบาลทันที ถ้าโรงพยาบาลไม่ซื้อที่ดินของเทศบาลที่ตั้งโรงพยาบาลตามคำแถลงของนายกเทศมนตรีต่อที่ประชุมสภาเทศบาลเมือง ตรงตามที่หนังสือพิมพ์โฆษณา มิได้โฆษณาเท็จ เป็นโฆษณาเรื่องอันเปิดเผยในการประชุมโดยสุจริตและเป็นธรรม ตาม ม.329 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6483/2531 การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อหาได้ชัดเจนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331 ส่วนที่จำเลยนำข้อความที่เกี่ยวกับการฟ้องโจทก์ เป็นบุคคลล้มละลายไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความที่ตรงกับที่จำเลยฟ้องโจทก์ มิได้มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น อันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย การที่หนังสือพิมพ์เสนอข้อความดังกล่าวจึงเป็นการรายงาน เรื่องที่โจทก็ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลายถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม  เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (4) จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


มาตรา 330     ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง” ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
                   แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความใน เรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์จะ ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

-          กรณีเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องห้ามไม่ให้พิสูจน์ว่าเป็นความจริง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 407/2523 หนังสือพิมพ์ลงข้อความว่าโจทก์จ่ายเช็ค 1 ล้านบาทแก่ธนาคารเช็คไม่มีเงิน ธนาคารแจ้งตำรวจจับโจทก์  เป็นที่เข้าใจว่าโจทก์มีฐานะการเงินไม่ดีไม่น่าเชื่อถือ เป็นหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีและประกอบการค้า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรี อันจะถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จึงอ้างว่าเป็นความจริงเพื่อมิต้องรับโทษไม่ได้

-          กรณีที่มิใช่เรื่องส่วนตัว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1072/2507 โจทก์เป็นเจ้าคณะอำเภอ ฟ้องหาว่าจำเลยกล่าวคำหมิ่นประมาท ใส่ความว่าโจทก์เข้าหานางชีที่ห้องวิปัสสนา เป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง นั้น จำเลยขอพิสูจน์ความจริงได้ เพราะการพิสูจน์ความจริงของจำเลยย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เนื่องจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ ผู้เป็นศาสนิกชนย่อมหวงแหน ที่จะมิให้ผู้ใดมาทำลายหรือทำความมัวหมองให้แก่พุทธศาสนาที่ตนนับถือยิ่งเมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไป ที่จะได้ไม่มัวหลงเคารพเลื่อมใสโจทก์ต่อไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3/2508 โจทก์เป็นปลัดเทศบาล จำเลยเป็นสมาชิกเทศบาล จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เกี่ยวกับเรื่องที่ภริยาโจทก์ตั้งเบิกจ่ายพาหนะเดินทางย้ายว่า "การเบิกจ่ายที่ผ่านไปได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง หรือการทุจริตนี้ วิญญูชนก็ต้องเข้าใจว่า คงกระทำไปด้วยความแนะนำ รู้เห็นเป็นใจของโจทก์ผู้เป็นสามีอย่างแน่นอน เพราะต่างก็ทำงานร่วมกันและอยู่ในบ้านพักเดียวกัน การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการผิดกฎหมายและวินัยของทางราชการอย่างร้ายแรง" และ "แทนที่โจทก์จะปฏิบัติหน้าที่และวางตนให้สมกับตำแหน่ง โจทก์กลับจะกลายมาเป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากเทศบาล โดยวิธีที่ไม่ชอบ ทั้งมีความประพฤติส่วนตัวที่ไม่สมควรมากมายหลายอย่าง จนพนักงานเทศบาลและประชาชนขาดความเคารพนับถือ สำหรับความประพฤติส่วนตัวที่เลวร้ายของโจทก์นั้น จำเลยจะไม่ขอกล่าวในโอกาสนี้" ดังนี้ข้อความที่กล่าวว่า โจทก์มีความประพฤติเลวร้าย แต่มิได้ กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใดนั้น ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการกระทำที่เป็นทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์ เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้ และเมื่อปรากฏว่าคำร้องเรียนของจำเลยเป็นความจริง จำเลยก็ไม่ต้องรับโทษ เพราะได้รับความยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1362/2514 การที่จำเลยโฆษณาหมิ่นประมาทผู้เสียหายซึ่งเป็นตำรวจมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจราจร ด้วยข้อความที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าผู้เสียหายได้รีดไถเงินทอง หรือรับสินบนจากผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบดังนี้ มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ความจริงย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจึงขอพิสูจน์ความจริงเพื่อไม่ต้องรับโทษได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 938/2519 ที่ประชุมสมาชิกสมาคมธนาคารไทย จำเลยที่ 1 มีมติให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเลขาธิการ ให้บรรดาธนาคารสมาชิกทราบว่ามีกลุ่มบุคคลขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารเพื่อสั่งของเข้ามา โดยวางเงินมัดจำไว้เล็กน้อยแต่ตีราคาของที่สั่งเข้ามาสูง เมื่อของที่สั่งเข้ามา ไม่เป็นไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิต บุคคลนั้นก็ไม่มาติดต่อขอรับเอกสารไปรับของ ธนาคารจะนำเอกสารไปออกของมาขายก็ไม่คุ้ม ทำให้ธนาคารเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก โจทก์เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน ที่ถูกระบุชื่อในหนังสือเวียนลับเฉพาะที่มีไปถึงธนาคารสมาชิก ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2520 ป.อ. ม.329 เป็นเรื่องกล่าวสุจริตตามข้อ 1 ถึง 4 ไม่เป็นความผิด / ม.330 เป็นเรื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง และมิใช่ในเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ เมื่อยกเว้นโทษตาม ม.330 แล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัย ว่าไม่มีความผิดตาม ม.329 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า มีผู้แจ้งต่อตำรวจว่าโจทก์ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรทำผิดอาญา ตำรวจสอบสวนสั่งจับ แต่ได้สอบถามโจทก์ โจทก์ชี้แจงว่าไม่จริง ไม่ใช่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงตามข่าว ที่ลงในหนังสือพิมพ์จำเลยนำสืบความจริงได้ว่า มีการแจ้งความต่อตำรวจจริง จำเลยไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องสืบให้ได้ว่าการทำผิดอาญาตามที่ลงในข่าวนั้นโจทก์ได้ทำผิดจริง / หนังสือพิมพ์ลงข่าวด้วยข้อความสุภาพ ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาท ไม่เป็นความผิดตาม ม.393
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7435/2541 การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้าย และกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และให้ผู้ประพฤติมิชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตาม ป.อ.มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือฉบับพิพาท เกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษ


มาตรา 331     คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 266/2507 คู่ความและทนายความยื่นคำแก้คำอุทธรณ์ต่อศาล เป็นข้อความที่เกี่ยวโยงกับพฤติการณ์แห่งคดี เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจลงโทษอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะมีลักษณะฟุ่มเฟือย และใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อโจทก์ไปบ้าง ก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 563-565/2508 จำเลยเบิกความในคดีที่ พ. ถูกฟ้องคดีอาญาฐานขับรถประมาทชนคนบาดเจ็บว่า พ.ให้การรับสารภาพขั้นสอบสวนเพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญนั้น หากคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า พ. กระทำผิดดังกล่าว แม้ข้อความที่จำเลยเบิกจะเป็นเท็จ ก็ไม่ใช่เท็จในข้อสำคัญแห่งคดี / การที่จำเลยเบิกความในคดีที่จำเลยถูกฟ้องฐานขับรถประมาทชนคนบาดเจ็บว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เพราะถูกโจทก์ขู่เข็ญนั้น เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำของคู่ความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 249/2510 คดีก่อน จำเลยถูกอ้างและหมายเรียกมาเป็นพยาน จำเลยถูกคู่ความคดีนั้นถามว่า พยานได้ปลุกปล้ำโจทก์ในคดีนี้หรือไม่ จำเลยไม่เต็มใจตอบ เกรงจะถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลสั่งให้ตอบ จึงตอบว่าได้เสียกัน เป็นการตอบตามประเด็นที่คู่ความซักถาม ตอบไปตามหน้าที่ของพยาน มิใช่นอกเหนือหน้าที่ ทั้งไม่มีเจตนาตอบไปเพื่อหมิ่นประมาทโจทก์ จึงไม่มีความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1055/2514 จำเลยฟ้องขอหย่าภรรยาจำเลย โดยกล่าวในฟ้องว่าภรรยาจำเลยเป็นชู้กับโจทก์ ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวเพื่อมิให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม ถือว่าข้อความที่จำเลยกล่าวในฟ้องนั้น เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 530/2515 โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านซึ่งถือเป็นการยื่นคำคู่ความเพื่อตั้งประเด็นในการพิจารณาคดีของศาล แม้ข้อความตามคำร้องคัดค้านของจำเลยจะเป็นเท็จ ไม่ผิด ม 137 และ ม 326 ตาม ม 331
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1590/2521 จำเลยฟ้องหย่าสามี ระบุในฟ้องว่าได้เสียเลี้ยงหญิงอื่นคือโจทก์เป็นภริยา เป็นคำกล่าวในกระบวนพิจารณาและใช้สิทธิทางศาล ไม่ปรากฏว่าจำเลยทำโดยไม่สุจริต ไม่เป็นหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและทางแพ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6483/2531 การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อหาได้ชัดเจนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม มาตรา 331 / ส่วนที่จำเลยนำข้อความที่เกี่ยวกับการฟ้องโจทก์ เป็นบุคคลล้มละลายไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความที่ตรงกับที่จำเลยฟ้องโจทก์ มิได้มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น อันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย การที่หนังสือพิมพ์เสนอข้อความดังกล่าวจึงเป็นการรายงาน เรื่องที่โจทก็ถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลายถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม  เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 329 (4) จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2212/2536 คดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้ ขอให้เพิกถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้อนุบาลของ จ. จำเลยฟ้องว่าโจทก์เล่นการพนัน ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาลของ จ. ขอให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาล และตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาลแทน แม้ศาลจะมิได้ตั้งประเด็นเรื่องคุณสมบัติของโจทก์ไว้โดยตรง แต่ก็มีข้อที่จะต้องพิจารณา ข้อความว่าบ้านของโจทก์ตั้งเป็นบ่อนการพนัน ก็เพื่อสนับสนุนคดีของจำเลยในข้อที่ว่า จำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็น โจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม มาตรา 331

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 331
-          (ขส พ 2515/ 9) นายสายฟ้องหย่าภรรยา อ้างว่าเป็นชู้กับนายศักดิ์ และลอบนำเงินให้นายศักดิ์ใช้ ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะนายสายขาดนัดพิจารณา นายศักดิ์ปรึกษาทนายจะฟ้องนายสายฐานหมิ่นประมาทและฟ้องเท็จ การกระทำของนายสาย เป็นการใช้สิทธิทางศาล จำเป็นต้องกล่าวให้ชัดเจน ถือว่าข้อความที่กล่าวในฟ้อง เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความ เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน (ตามมาตรา 331) ไม่ผิด ม 326 และแม้ข้อความจะเท็จ ก็ไม่ใช่การฟ้องว่ากระทำผิดอาญา ตาม ม 175 ฎ 1055/2514 (ฎ 1055/2514 จำเลยฟ้องขอหย่าภรรยาจำเลย โดยกล่าวในฟ้องว่าภรรยาจำเลยเป็นชู้กับโจทก์ ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวเพื่อมิให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม ถือว่าข้อความที่จำเลยกล่าวในฟ้องนั้น เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท)

มาตรา 332     ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(1)         ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(2)         ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ หรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา




มาตรา 333     ความผิดในหมวดนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

-          มาตรา 333 วรรคสอง บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหาย
-          ศาตราจารย์จิตติ ติงสภัทิย์ (กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และ ภาค 3 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2539 หน้า 2259) เมื่อกฎหมายระบุบุคคลโดยจำกัดเช่นนี้ ก็ควรตีความเฉพาะผู้ที่มีสัมพันธ์เช่นนั้น โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตีความอย่างกว้างรวมไปถึงบิดา กับบุตรนอกกฎหมาย ดังที่เคยตีความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 หรือรวมไปถึงสามีภริยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะจะเกินความประสงค์ของกฎหมายที่ระบุตัวบุคคลจำกัดไว้โดยเฉพาะ เพื่อร้องทุกข์ได้ แล้วก็เลยบัญญัติให้ถือเป็นผู้เสียหายด้วย เพื่อให้ฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างผู้เสียหายได้ เช่น หมิ่นประมาท ก. ต่อมา ก. ตาย ข. บุตร ก. ฟ้องคดีได้ ถ้า ข. ฟ้องคดีไว้แล้ว ข. ตายลงอีก ผู้บุพการีของ ข. และบุคคลอื่น ๆ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ก็ดำเนินคดีต่าง ข. ต่อไปได้ ถ้า ข. เป็นผู้เยาว์ ก็มีผู้แทนฟ้องคดี และดำเนินคดีต่อไปได้ แต่ถ้า ข. ตายลงก่อนร้องทุกข์ หรือฟ้องคดี ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของบุคคลอื่น ตามมาตรา 333 วรรค 2 ที่จะร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีในความผิดที่กระทำต่อ ก. บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของ ข. จะเข้ามาร้องทุกข็ในความผิดที่กระทำต่อ ก. อีกชั้นหนึ่งไม่ได้ เป็นการนอกเหนือบทที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะไปแล้ว การที่บุคคลตามมาตรา 333 วรรค 2 เข้ามาในคดี คงถือว่าเข้ามาโดยสืบฐานะของผู้ที่ตายแล้วนั้น มิใช่มีฐานะใหม่เป็นส่วนตัว)

-          กำหนดเวลาร้องทุกข์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1954/2530 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจำเลยให้สัมภาษณ์ โดยมีข้อความ ซึ่งอ่านแล้วรู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ถือได้แล้วว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว โจทก์ไม่ร้องทุกข์ภายใน เดือน จึงขาดอายุความตาม มาตรา 96

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 333
-          (ขส เน 2513/ 7) นายบอนกล่าวว่า นางกล่ำผู้ตาย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ลักลอบเป็นชู้ นายบอนผิด ม 327 ไม่ใช่ ม 326 / นายกล้า เป็นบุตรนางกล่ำ จะเดินทางไปร้องทุกข์ แต่ถูกรถชนตาย ภริยานายกล้า ร้องทุกข์ได้ตาม ม 333 ว 2

1 ความคิดเห็น:

slide